IMF เตือน “แบงก์ชาติ” ทั่วโลกขึ้นดบ. หวั่นตลาดหุ้นเสี่ยงทรุดหนัก
IMF ออกโรงเตือน ตลาดการเงินจะผันผวนมากขึ้นอีก รัฐบาลทั่วโลกพยายามเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยการที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ หันมาใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินและควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นนั้น หวั่นตลาดหุ้นเสี่ยงทรุดหนัก
นายโทเบียส เอเดรียน ที่ปรึกษาด้านการเงินและผู้อำนวยการฝ่ายตลาดเงินและตลาดทุนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า ตลาดการเงินจะผันผวนมากขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่รัฐบาลทั่วโลกพยายามเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
โดยนายเอเดรียน เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า การที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ หันมาใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินและควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นนั้น อาจส่งผลให้ราคาหุ้นซึ่งจัดเป็นสินทรัพย์เสี่ยงทรุดตัวลงอย่างหนัก แม้ว่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายให้คำมั่นสัญญาว่า การเปลี่ยนผ่านด้านนโยบายการเงินจะเป็นไปอย่างราบรื่นก็ตาม
“เราอาจได้เห็นการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินมากขึ้นอีกอย่างแน่นอนในอนาคต และนั่นหมายความว่า บรรดาสินทรัพย์เสี่ยง เช่นหุ้น จะถูกเทขายออกมามากขึ้น” นายเอเดรียน กล่าว
สำหรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อวานนี้ว่า เฟดจะระงับโครงการซื้อสินทรัพย์และเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค.นี้
ทั้งนี้นายเอเดรียนกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เราประมาณการว่า หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นักลงทุนก็จะเทขายหุ้นออกมามากขึ้น โดยจะมีหุ้นบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปถึงตลาดคริปโทเคอร์เรนซีด้วย”
ส่วนการแสดงความเห็นของนายเอเดรียนมีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่ IMF เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดย IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.40% ในปี 2565 ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.90% และคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 4.00% ในปีนี้ ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 5.20% โดยได้รับผลกระทบจากการที่เฟดถอนมาตรการกระตุ้นทางการเงิน
นอกจากนี้ IMF ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของเอเชียในปีนี้ โดยระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียเป็นไปอย่างล่าช้า และยังคงกดดันให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียต้องใช้มาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เม็ดเงินทุนจะไหลออกจากภูมิภาค
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียในปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่ระดับ 5.9% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 6.3%