สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ม.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ม.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (27 ม.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนตลอดทั้งวัน โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดในไตรมาส 4/2564 แต่ขณะเดียวกันตลาดยังคงถูกกดดันจากความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,160.78 จุด ลดลง 7.31 จุด หรือ -0.02%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,326.51 จุด ลดลง 23.42 จุด หรือ -0.54% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,352.78 จุด ลดลง 189.34 จุด หรือ -1.40%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพฤหัสบดี (27 ม.ค.) หลังการซื้อขายผันผวน โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของหุ้นรายตัว ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวรับการประกาศมติเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และขานรับการเปิดเผยข้อมูล GDP ของสหรัฐที่ออกมาดีกว่าคาดด้วย

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 470.33 จุด เพิ่มขึ้น 3.02 จุด หรือ +0.65%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,023.80 จุด เพิ่มขึ้น 41.84 จุด หรือ +0.60%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,524.27 จุด เพิ่มขึ้น 64.88 จุด หรือ +0.42% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,554.31 จุด เพิ่มขึ้น 84.53 จุด หรือ +1.13%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพฤหัสบดี (27 ม.ค.) ขานรับการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของหุ้นรายตัว ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และหุ้นกลุ่มส่งออกได้แรงหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,554.31 จุด เพิ่มขึ้น 84.53 จุด หรือ +1.13%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (27 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. ขณะเดียวกันนักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน รวมทั้งการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสในวันที่ 2 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 74 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 86.61 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 62 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 89.34 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงหลุดจากระดับ 1,800 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (27 ม.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แข็งแกร่งเกินคาดในไตรมาส 4/2564

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ร่วงลง 36.6 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 1,793.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1.131 ดอลลาร์ หรือ 4.75% ปิดที่ 22.676 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 24.1 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 1,021.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 15.90 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 2,366.50 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (24 ม.ค.) โดยดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง  หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาดในไตรมาส 4/2564

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.87% แตะที่ 97.2460 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 115.31 เยน จากระดับ 114.51 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9312 ฟรังก์ จากระดับ 0.9237 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2734 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2657 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1146 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1253 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3381 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3460 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7034 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7118 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button