WHA ตั้งเป้าปี 69 รายได้-ส่วนแบ่งกำไรแตะ 2.1 หมื่นล. รักษา “อิบิทด้า” ระดับ 40%

WHA คาดการณ์รายได้รวม-ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะ 21,000 ลบ. ในปี 69 โดยยังคงรักษาระดับอัตราผลกำไร EBITDA ที่แข็งแกร่งกว่าร้อยละ 40


นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า บริษัทเล็งพัฒนาและสร้างการเติบโตใหม่ ๆ ตลอดห้าปีข้างหน้า ด้วยงบลงทุน 50,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ

พร้อมคาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 21,000 ล้านบาทในปี 2569 หรือ 1.75 เท่าจากปี 2564 โดยที่ยังคงรักษาระดับอัตราผลกำไร EBITDA ที่แข็งแกร่งกว่าร้อยละ 40 และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (IBD) ของบริษัทต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมต่ำกว่า 1.2 เท่าในปีที่ผ่านมาของบริษัทฯ มีผลประกอบการที่โดดเด่นด้วยรายได้ที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 28 ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย ในปี  2564 บริษัทฯ มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรรวม 12,000 ล้านบาท พร้อมสินทรัพย์รวมแตะ 83,000 ล้านบาท และคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ A-

สำหรับในปี 2564 ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เติบโตทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โดยมีโครงการใหม่ พันธมิตรใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ และการลงทุนใหม่ๆ ตอกย้ำสถานะของบริษัทฯ ในฐานะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและไฟฟ้าในประเทศไทยและเวียดนาม

โดยโครงการใหม่ ๆ ในปี 2564 บริษัท ได้มีการเปิดตัวโครงการ “ดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม.21” คลังสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ ซึ่งมีพื้นที่อาคารรวม 400,000 ตารางเมตร และความสำเร็จในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (WHA RY36) ที่มีเนื้อที่รวม 1,280 ไร่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับใบรับรองการจดทะเบียนการลงทุนสำหรับการสร้างเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน – เหงะอาน เฟส 2 (เนื้อที่ 2,200 ไร่) ในเวียดนามอีกด้วย

ด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการจัดจำหน่ายก๊าซไนโตรเจนผ่านท่อส่งให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) การเปิดตัวโครงการพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่โรงกรองน้ำในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) การพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ และโซลูชันอาคารสำนักงานใหม่ 6 ทำเลทอง ในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวมพื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร

ส่วนพันธมิตรใหม่ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ให้บริการน้ำรีไซเคิลและน้ำปราศจากแร่ธาตุ แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (มาบตาพุด) ประเดิมลูกค้ารายแรกเป็นโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ ภายใต้อายุสัญญา 15 ปี โดยมีกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

โดยการลงทุนใหม่ อาทิ การลงทุนใน Giztix สตาร์ทอัพชั้นนำด้าน e-Logistic ที่ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเชื่อมต่อผู้ประกอบการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ กับผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศ ด้วยเงินลงทุน 150 ล้านบาท และการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 29.40 ในบริษัท สตอเรจ เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการให้เช่าพื้นที่จัดเก็บทรัพย์สินส่วนบุคคล ภายใต้แบรนด์ “i-Store Self Storage”

ทั้งนี้ ในด้านรางวัลความสำเร็จ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมาย รวมถึงรางวัล SET Awards 2021 ถึง 3 รางวัล โดยดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้รับ “รางวัล Rising Star Sustainability” และดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ ได้รับ “รางวัล Outstanding Innovative Company” จากโครงการ Demineralized Reclaimed Water : แหล่งน้ำทางเลือกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึง “รางวัล Sustainable Stocks Company” มอบให้แก่ทั้งสองบริษัท

นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) ยังได้รับ “รางวัล CSR Excellence Recognition” จากหอการค้าอเมริกัน (AMCHAM) เป็นปีที่ 12 ติดต่อกันอีกด้วย

“แม้จะเป็นอีกปีที่ท้าทายด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จำกัดโอกาสในการเดินทางของลูกค้าและนักลงทุนต่างประเทศ แต่เราก็ยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตได้อย่างน่าทึ่ง และรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งไว้ได้” พร้อมเสริมว่า “เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของดับบลิวเอชเอ เราได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงการดำเนินงานของเรา โดยมีวัตถุประสงค์สองด้านคือ หนึ่ง การมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้า และสองคือ การพัฒนาการดำเนินงานให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้” นางสาวจรีพร กล่าว

สำหรับทิศทางแผนธุรกิจประจำปี 2565 และอนาคตนั้น ด้วยเป้าหมายทรานส์ฟอร์มแกนหลักของธุรกิจสู่ดิจิทัล ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปได้ริเริ่มโครงการเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นมาถึง 33 โครงการในปี 2564 ครอบคลุมธุรกิจของบริษัทฯ ในทุกด้าน โดยมุ่งหวังที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาความมั่นคงและประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ

ทั้งนี้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco Industrial Estates) ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่มุ่งมั่นยกระดับการให้บริการผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัยเข้ามาประยุทต์ใช้ในทุกกิจกรรม ตั้งแต่การสื่อสาร ระบบขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตน้ำและการบำบัดน้ำเสีย

โดยศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Unified Operation Center หรือ UOC) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร WHA Tower ย่านบางนา อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ช่วยให้สามารถติดตามผลค่าตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่างในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในแบบเรียลไทม์ อาทิ การตรวจสอบคุณภาพอากาศและน้ำเสีย ระดับน้ำ การจราจร และความปลอดภัย

สำหรับก้าวต่อไปของการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัลของดับบลิวเอชเอคือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ จากผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนโรดแมปของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่ตั้งเป้าหมายจะก้าวเป็นบริษัทเทคโนโลยีให้ได้ภายในปี 2567

ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ ในประเทศไทย นอกเหนือจากฐานที่มั่นอันแข็งแกร่งในย่านบางนา-ตราดแล้ว ดับบลิวเอชเอ ตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมมากขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ในทำเลยุทธศาสตร์ใน 3 จังหวัดอีอีซี (อันได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง)

โดยจะขยายพอร์ทผลิตภัณฑ์ด้านโลจิสติกส์ให้ครอบคลุม ตั้งแต่อาคารคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit และคลังสินค้าแบบทั่วไป ไปจนถึงอาคารคลังสินค้าที่มีขนาดเล็กลง เพื่อรองรับความต้องการขององค์กรขนาดย่อมและธุรกิจ SME และตอบโจทย์เซ็กเมนท์ที่กำลังเติบโตกลุ่มนี้  ในส่วนต่างประเทศ บริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับโอกาสต่าง ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความต้องการอันแข็งแกร่งนี้ และใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถที่มีอยู่ของดับบลิวเอชเอในเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในระยะยาวกับพันธมิตรระดับภูมิภาคและระดับโลกทั้งรายใหม่และที่มีอยู่แล้วโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงอย่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจดูแลสุขภาพ และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์และบริการ บริษัทจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI IoT  Big Data ระบบอัตโนมัติ และวิทยาการหุ่นยนต์ มาปรับใช้งาน และมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในเมตาเวิร์ส เทคโนโลยีควอนตัม และระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

โดยดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เดินหน้าขยาย Office Solution ของบริษัทฯ ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน 6 แห่งในทำเลทอง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันและการออกแบบชั้นเยี่ยมในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ โดยมีกลุ่มผู้เช่าเป้าหมาย ตั้งแต่กลุ่มสตาร์ทอัพที่กำลังเริ่มก่อตั้งธุรกิจ ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่มั่นคงแล้ว โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าคว้าโครงการและสัญญาใหม่ ๆ ในปี 2565 ให้ได้ 180,500 ตารางเมตร และยังมีสัญญาเช่าระยะสั้นอีก 100,000 ตารางเมตร และคาดว่าจะมีทรัพย์สินภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารรวมทั้งสิ้น 2,685,000 ตารางเมตร

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ยังคงยืนหยัดความเป็นผู้นำในประเทศไทย เพิ่มการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในประเทศไทย ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) เป็นผู้เล่นที่พร้อมที่สุดที่จะคว้าธุรกิจจากการฟื้นตัว จากจำนวนที่ดินที่มีอยู่ 12,100 ไร่ ซึ่งรวมที่ดินอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วพร้อมขายทั้งสิ้น 4,160 ไร่ ที่ตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ โดยคาดว่า WHAID จะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน อันเป็นผลจากความตึงเครียดทางการค้า ค่าแรง หรือการขาดแคลนพลังงาน ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนลูกค้าชาวจีนของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนกว่าร้อยละ 50 ของยอดขายที่ดินทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมองเห็นความต้องการที่ดินจากลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่าสูงโดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) หรือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และด้านการแพทย์

ขณะที่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า WHAID มีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 บริษัทฯ เตรียมขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (เพิ่มอีก 580 ไร่) โดยได้เริ่มการก่อสร้างในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ที่ผ่านมา และรวมถึงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง เฟสแรก (1,100 ไร่) ที่เป็นโครงการร่วมทุนกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด ซึ่งกำหนดจะเริ่มพัฒนาในปลายปี 2565

นอกจากนี้ WHAID จะยังคงต่อยอดการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มรายได้ประจำและลดการพึ่งพาการขายที่ดิน เช่น การจัดส่งก๊าซไนโตรเจน โดยบริษัท บีไอจี ดับบลิวเอชเอ อินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG WHA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง WHAID กับ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ซึ่งเปิดให้บริการแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมก๊าซชนิดอื่นๆ

รวมถึงมีแผนการจะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น WHAID จะใช้ประสบการณ์ที่มีของบริษัทฯ ในการพัฒนาทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ ศูนย์สร้างนวัตกรรมและบ่มเพาะสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เปิดให้บริการใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อก้าวไปสู่นิคมอุตสาหกรรมหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น บริษัทฯ ยังมีความตั้งใจที่จะสำรวจโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สอดคล้องไปกับแนวโน้มด้านความยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ทั้งนี้ ในประเทศเวียดนาม WHAID จะต่อยอดความสำเร็จของโครงการเหงะอาน เพื่อขยายธุรกิจของบริษัทไปสู่ระดับประเทศ โดยเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟส 1 พื้นที่ 900 ไร่ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และการดูแลสิ่งแวดล้อมคุณภาพสูงสุด

โดยมีนักลงทุนจากฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย จีน และเวียดนาม จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่าพื้นที่แล้วกว่าครึ่งหนึ่ง  และด้วยความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทฯ มีแผนที่จะเร่งพัฒนาเฟสต่อๆ ไป ซึ่งรวมถึงเฟสที่ 2 (พื้นที่ 2,200 ไร่) ที่มีกำหนดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งเฟส 1, 2 และส่วนต่อขยาย เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน จะมีพื้นที่โดยรวมทั้งสิ้น 11,550 ไร่

ทั้งนี้ หลังจากมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงในเดือนธันวาคม 2563 กับคณะกรรมการประชาชนจังหวัดทัญฮว้า ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ มุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ โครงการ “WHA Smart Technology Industrial Zone – Thanh Hoa” ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองหลักของจังหวัด มุ่งตอบโจทย์ความต้องการจากนักลงทุนด้านเทคโนโลยีมูลค่าสูง ในขณะที่โครงการ “WHA Northern Industrial Zone – Thanh Hoa” ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับศูนย์ปิโตรเคมี Nghi Son จะมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ โดยคาดว่าการย้ายชุมชนและการก่อสร้างจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านการเดินทางในปี 2564 แต่ยอดขายที่ดินทั้งในประเทศไทยและเวียดนามยังสูงถึง 855 ไร่ และด้วยกิจกรรมการพัฒนาลูกค้าที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ว่าในปี 2565 ยอดขายที่ดินจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 46 แตะ 1,250 ไร่ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม

สำหรับ WHAUP มุ่งต่อยอดธุรกิจสาธารณูปโภคให้เติบโตต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและเวียดนาม รวมถึงพัฒนาและริเริ่มโซลูชันพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์

ในส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตีส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) จะใช้ความเชี่ยวชาญของ WHAUP เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม อาทิ Wastewater Reclamation และน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized water) ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม ทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ

อาทิ ผู้พัฒนาที่ดินอุตสาหกรรมรายอื่น เทศบาลเมือง และชุมชนต่างๆ  นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจน้ำในแนวดิ่งให้เติบโตมากขึ้น โดยการสำรวจหาแหล่งน้ำดิบทางเลือกต่าง ๆ เพื่อความมั่นคงและลดต้นทุนในการซื้อน้ำดิบ และยังได้นำแพลตฟอร์ม “Smart Utilities Services” และ “Innovative Solution” มาให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเออีกด้วย ส่วนในประเทศเวียดนาม ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ในบริษัทน้ำสองแห่ง WHAUP ยังมองหาโครงการใหม่ ๆ

รวมถึงโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติมอีกด้วย  ปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำสูงถึง 128 ล้านลูกบาศก์เมตรในประเทศไทย และ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรในเวียดนาม

สำหรับธุรกิจด้านพลังงาน  WHAUP เตรียมพร้อมเดินหน้าพัฒนาโซลูชั่นพลังงานสะอาดและเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น ทั้งจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปและโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ (Waste-to-energy) โดยตั้งเป้าหมายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามแล้ว 150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2565

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer (P2P) และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Microgrid มาใช้ในนิคมอุตสาหกรรม โดยคาดว่าในปี 2565 บริษัทฯ จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามสัดส่วนการถือหุ้นสูงถึง 700 เมกะวัตต์

ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม เสริมแกร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ด้วยการเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยปัจจุบันได้มีการติดตั้งโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่ง และมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 11 แห่งภายในปี 2565 ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม  ได้ขยายธุรกิจให้ครอบคลุมการบริหารจัดการเสาโทรคมนาคมใหม่ทั้งหมดภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ซึ่งจะรวมถึงการก่อสร้างเสาโทรคมนาคมและสถานีฐาน และการให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาเช่าพื้นที่บนเสาโทรคมนาคมเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรับและกระจายสัญญาณเครือข่ายทั้ง 3G, 4G และ 5G

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีกำไรพิเศษจาการจำหน่าย Data Center 2แห่ง ในขณะที่ธุรกิจศูนย์บริการระบบข้อมูลสารสนเทศ (Data Center) บริษัทฯ มีกำไรจากการจำหน่ายดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่ง จากการปรับปรุงแผนธุรกิจดิจิทัลของบริษัทฯ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีแผนที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น เพื่อเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและนำนวัตกรรมรวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ  โดยดับบลิวเอชเอ ได้มองหาธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะบริษัทที่เติบโตขึ้นมาในประเทศ มาเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ

สำหรับงบลงทุน 50,000 ล้านบาท ที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้ตั้งไว้สำหรับการลงทุนภายใน 5 ปี นั้น ประกอบด้วย งบลงทุนสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ 18,000 ล้านบาท ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 18,000 ล้านบาท ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน 10,000 ล้านบาท และอีก 4,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในธุรกิจดิจิทั ธุรกิจสตาร์ทอัพและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะและทรานสฟอร์มองค์กรสู่บริษัทเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์

เรามองปี 2565 ด้วยความมั่นใจและในด้านบวก เพราะเราเชื่อว่า ข้อจำกัดต่างๆ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย โดยเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว  ในช่วงห้าปีข้างหน้า เราจะเดินหน้ากระบวนการทรานสฟอร์มธุรกิจทุกฮับของเราให้เป็นดิจิทัลต่อไป โดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดำเนินงานของเราให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ความพร้อมทางด้านดิจิทัลของเราและความสามารถในการนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ตามแผนการลงทุนของบริษัทฯ จะส่งผลต่อความสามารถของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในการต้อนรับนักลงทุน และเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงช่วยขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของรัฐบาลได้เป็นอย่างมาก” นางจรีพร กล่าว

Back to top button