สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ก.พ. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ก.พ. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (4 ก.พ.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ฟื้นตัวขึ้นมายืนปิดตลาดในแดนบวกได้โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทแอมะซอน และนักลงทุนได้ปรับตัวรับการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาดในเดือนม.ค. ซึ่งสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,089.74 จุด ลดลง 21.42 จุด หรือ -0.06%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,500.53 จุด เพิ่มขึ้น 23.09 จุด หรือ +0.52% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,098.01 จุด เพิ่มขึ้น 219.19 จุด หรือ +1.58%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงในวันศุกร์ (4 ก.พ.) เนื่องจากมีแรงเทขายในหุ้นทุกกลุ่มนำโดยหุ้นกลุ่มรถยนต์ ขณะที่หุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาด
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 462.15 จุด ลดลง 6.48 จุด หรือ -1.38%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,951.38 จุด ลดลง 54.25 จุด หรือ -0.77%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,099.56 จุด ลดลง 268.91 จุด หรือ -1.75% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,516.40 จุด ลดลง 12.44 จุด หรือ -0.17%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันศุกร์ (4 ก.พ.) นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลง ขณะที่ตลาดยังคงถูกกดดัน หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันพฤหัสบดีเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,516.40 จุด ลดลง 12.44 จุด หรือ -0.17% แต่ปรับตัวขึ้น 0.6% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นต่อเนื่องในวันศุกร์ (4 ก.พ.) และปิดตลาดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2557 เนื่องจากพายุฤดูหนาวที่รุนแรงในสหรัฐทำให้เกิดความวิตกด้านอุปทานน้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 2.04 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 92.31 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2557 และเพิ่มขึ้น 6.3% ในรอบสัปดาห์นี้
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 2.16 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 93.27 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2557 และเพิ่มขึ้น 5.4% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (4 ก.พ.) หลังการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ช่วยหนุนแรงซื้อสัญญาทองคำ และลดแรงกดดันในตลาดจากการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาด
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 3.70 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,807.80 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 1.2% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 10 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 22.475 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 6.1 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,024.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 27.00 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 2,290.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (4 ก.พ.) ขานรับตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่แข็งแกร่ง ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินปิดตลาดวันศุกร์เพิ่มขึ้น 0.10% แตะที่ 95.48
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนที่ระดับ 115.19 เยน จากระดับ 114.995 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9249 ฟรังก์ จากระดับ 0.9200 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2746 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2677 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1457 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1439 ดอลลาร์, ปอนด์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ 1.3534 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3599 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7080 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7140 ดอลลาร์