สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 ก.พ. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 ก.พ. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันจันทร์ (7 ก.พ.) ส่วนดัชนี S&P500 และ Nasdaq ต่างก็ปิดในแดนลบ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนตลอดทั้งวัน ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,091.13 จุด เพิ่มขึ้น 1.39 จุด หรือ +0.004%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,483.87 จุด ลดลง 16.66 จุด หรือ -0.37% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,015.67 จุด ลดลง 82.34 จุด หรือ -0.58%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันจันทร์ (7 ก.พ.) หลังปิดลบ 5 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ และการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในยุโรป ได้ช่วยบดบังความวิตกเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายและความตึงเครียดทางการเมืองที่เกี่ยวกับรัสเซียและยูเครน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 465.28 จุด เพิ่มขึ้น 3.13 จุด หรือ +0.68%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,009.25 จุด เพิ่มขึ้น 57.87 จุด หรือ +0.83%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,206.64 จุด เพิ่มขึ้น 107.08 จุด หรือ +0.71% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,573.47 จุด เพิ่มขึ้น 57.07 จุด หรือ +0.76%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันจันทร์ (7 ก.พ.) นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งได้แรงหนุนจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวขึ้น เนื่องจากราคาโลหะปรับตัวแข็งแกร่ง

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,573.47 จุด เพิ่มขึ้น 57.07 จุด หรือ +0.76%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (7 ก.พ.) หลังมีสัญญาณความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรและทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 99 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 91.32 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 58 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 92.69 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันจันทร์ (7 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ขณะที่นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพฤหัสบดีนี้

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 14 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 1,821.80 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2565

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 60 เซนต์ หรือ 2.7% ปิดที่ 23.076 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 4.2 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 1,020 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 30.60 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 2,260.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (7 ก.พ.) ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งอาจบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.04% สู่ระดับ 95.40 เมื่อคืนนี้

Back to top button