“หุ้นเอเชีย” เปิดบวก! ตามทิศทางดาวโจนส์ แนะจับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ
“หุ้นเอเชีย” เปิดบวก! ตามทิศทางดาวโจนส์ที่ปิดบวกท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนตลอดทั้งวัน นลท.จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งบ่งชี้ทิศทางดอกเบี้ยเฟด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดในแดนบวก ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดบวกเล็กน้อยในวันจันทร์ (7 ก.พ.2565) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนตลอดทั้งวัน ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
โดยดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 27,318.30 จุด เพิ่มขึ้น 69.43 จุด หรือ +0.25%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,548.05 จุด ลดลง 31.5 จุด หรือ -0.13% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,428.54 จุด ลดลง 1.04 จุด หรือ -0.03%
ส่วนนักลงทุนยังคงซึมซับผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทเมตา แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก รวมทั้งความกังวลที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้ หลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนม.ค.
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาความเคลื่อนไหวหุ้นของบริษัท ซอฟต์แบงก์ (SoftBank) หลังไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า การเจรจาซื้อขายบริษัทอาร์ม (Arm) ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตชิปในเครือซอฟต์แบงก์ให้กับอินวิเดีย (Nvidia) ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐ, อังกฤษ และสหภาพยุโรป (EU) ได้คัดค้านและแสดงความกังวลอย่างมากถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ทั้งนี้ ดีลดังกล่าวมีมูลค่าราว 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์
ด้านตลาดยังคงจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนม.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ก่อนที่เฟดจะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15-16 มี.ค.
ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 35% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 14% ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีในวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้นอกเหนือจากดัชนี CPI แล้ว นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนม.ค.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB), ดุลการค้าเดือนธ.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน