“แบงก์” จ่อรับดบ.ขาขึ้น หนุนกำไร โบรกฯ ชู SCB “ท็อปพิก” ติดปีกสู่โฮลดิ้ง เป้า 150 บ.
โบรกฯมอง “กลุ่มแบงก์” จ่อรับดอกเบี้ยขาขึ้น ชู SCB “ท็อปพิก” อานิสงส์ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เป็น Holding company และการรุกในธุรกิจ Digital เต็มรูปแบบ เคาะเป้า 150 บ.
บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (10 ก.พ. 2565) ว่าตลาดหุ้นให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยข้อมูลจาก Dot Plot ใน Bloomberg พบว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 จำนวน 4 ครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับ Bond yield เดินหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ทำให้ฝ่ายวิจัยคาดว่ามีโอกาสที่ประเทศไทยจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นตามด้วยหลังจากนี้ เพราะจากการศึกษาเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด พบว่ามีความสัมพันธ์กับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยมี Correlation สูงถึง 89%
โดยทางฝ่ายวิจัยคาดว่าจะเห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย อย่างน้อย 1 ครั้ง (0.25%) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 เพราะในสถานการณ์ปกติจะมี Gap ระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และไทยที่ระดับ 0.75% หมายถึงเฟดจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อน 3 ครั้ง แล้วไทยจึงจะขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อประมาณกำไรของหุ้นในกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เพราะได้ประโยชน์จากการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็น Float rate ได้ทันทีและเร็วกว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยของเงินฝาก
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยได้ทำ Sensitivity หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นทุกๆ 0.25% พบว่า กลุ่มธนาคารมี Upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิในปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 4% โดยธนาคารที่ได้ Upside เรียงจากมากไปหาน้อย คือ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO
นอกจากนี้ฝ่ายวิจัยคาดหากตลาดคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจริง ในช่วงแรกจะเห็นการเร่งซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างบ้านเพิ่มมาก ขึ้นก่อนเพื่อล็อกอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ โดยธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อบ้านเรียงจากมากไปหาน้อย คือ SCB, TTB, KBANK, KTB, BBL, KKP, TISCO
อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” เพราะ valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.77 เท่า และหากเทียบกับในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของไทยเป็นขาขึ้นมีการเทรดที่ระดับ 1.30 เท่า ทำให้ทางฝ่ายวิจัยเชื่อว่าราคาหุ้นในปัจจุบันยัง Laggard โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เพราะได้ประโยชน์จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าธนาคารขนาดเล็ก
ส่วนด้าน NPL แม้ว่าจะยังอยู่ในขาขึ้น แต่เป็นการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีมาตรการช่วยเหลือต่อถึงสิ้นปี 2566 โดยทางฝ่ายวิจัยยังคงเลือก SCB เป็น Top pick ราคาเป้าหมายที่ 150 บาท อิงปี 2565 ค่า PBV ที่ 1.10 เท่า โดยมองว่า SCB ควรเทรดที่ Premium กว่ากลุ่ม เพราะการเปลี่ยนธุรกิจใหม่เป็น Holding company และการรุกในธุรกิจ Digital เต็มรูปแบบที่เป็น Trend ในอนาคตก่อนจะทำให้ได้เปรียบกว่าคู่แข่งมาก ขณะที่แนวโน้มของการตั้งสำรองฯที่เพียงพอแล้วและ NPL ไม่น่ากลัวเท่าคู่แข่ง
อีกทั้งยังชอบ TTB แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 1.80 บาท ซึ่งจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรปี 2565 จะโตได้สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารที่ 23% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จาก Integration cost ที่ลดลงและจะเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูงเพิ่มขึ้นอย่างสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งจะมีการ Launch mobile application ที่สามารถต่อยอดธุรกิจเช่าซื้อได้อย่างครบวงจรใน App เดียว ในช่วงไตรมาส 1/2565