โบรกคัด 7 หุ้นรับอานิสงส์ “น้ำมันแพง-ราคายางพุ่ง” ชู 3 ตระกูลป.- NER เด่น

บล.โกลเบล็ก ประเมินหุ้นไทยผันผวนจากความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน แนะกลยุทธ์ลงทุน 7 หุ้นเด่นรับราคาน้ำมันแพง และหุ้นที่ได้อานิสงส์ราคายางพุ่ง


นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นว่ามีโอกาสแกว่งตัวผันผวนในลักษณะ Sideway Up โดยยังมีแรงกดดันจากความกังวลว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ใกล้จะเปิดศึกโจมตียูเครน หลังจากที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐเตือนว่ารัสเซียอาจจะเริ่มบุกยูเครนก่อนจีนปิดฉากกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลกและผู้นำสหรัฐเรียกร้องให้ชาวอเมริกันรีบเดินทางออกจากยูเครน

อีกทั้งการที่สหรัฐรายงานตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีเป็นตัวเร่งให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) พิจารณาขึ้นดอกเบี้ย  เห็นได้จาก FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 88% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. จากเดิมที่เคยให้น้ำหนักเพียง 14% และนักลงทุนให้น้ำหนัก 95% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1.00% ภายในเดือนมิ.ย. และธนาคารกลางหลายประเทศทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยล่าสุดธนาคารกลางรัสเซียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% สู่ระดับ 9.50% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2560 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปีที่ระดับ 8.1% สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ระดับ 4%

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังปรับตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ฉีดวัคซีน แต่ยังมีข่าวดีอยู่บ้างจากสถิติการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้า ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยไทยฉีดวัคซีนแล้ว 120,009,906 โดส ผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 และ 2 คิดเป็น 79.8% และ 74.4% ตามลำดับ และเด็กกลุ่มอายุ 5-17 ปีเริ่มได้รับวัคซีนที่มี 5 สูตรที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย  จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,675-1,710 จุด

ส่วนปัจจัยยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง อาทิ 15 ก.พ. ญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลข GDP งวด 4Q64 และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. อียูรายงานตัวเลข GDP งวด 4Q64 (ประมาณการครั้งที่ 2) ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนก.พ. สหรัฐรายงานดัชนีภาคการผลิตเดือนก.พ. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค. 16 ก.พ.  จีนเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค.ซึ่งบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ สหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนม.ค. ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนม.ค. การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนธ.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.พ. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ และ FOMC เปิดเผยรายงานการประชุม  17 ก.พ. สหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ การเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค. และดัชนีการผลิตเดือนก.พ.

ขณะที่วันที่ 18 ก.พ. ญี่ปุ่นเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. สหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนม.ค. 17 -18 ก.พ. สภาผู้แทนราษฎรเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC

รวมทั้งหุ้นที่ได้อานิสงส์จากราคายางที่พุ่งแรงในช่วงไตรมาสแรกหลังความต้องการในตลาดโลก โดยเฉพาะความต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรมถุงมือยาง และยานยนต์ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER, บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB และ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA

ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก กล่าวว่า สัปดาห์นี้ราคาทองคำจะแกว่งตัวผันผวน เนื่องจากมีกำหนดประกาศตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตและยอดค้าปลีกของสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะสูงกว่าครั้งก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังคงทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมต้นทุนการผลิตยังคงเร่งตัวขึ้น ขณะที่ช่วงปลายสัปดาห์ประกาศรายงานการประชุม FOMC จากครั้งก่อนและจับตาคำแถลงของประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์อย่างนาย เจมส์ บลูลาร์ดที่หนุนเฟดให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1.0% ภายในกรกฎาคมนี้ อาจส่งผลให้ Bond Yield ทรงตัวระดับ 2.0% ต่อไป ฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำอาจผันผวนในกรอบ 1,830-1,880$/oz หากย่อตัวไม่หลุดแนวรับให้ทยอยเข้าซื้อสะสม

Back to top button