EA ชี้ธุรกิจแบตฯ รับเต็มมาตรการ “รถ EV” แนะขยายแพ็คเกจ “บัส-บรรทุก” เพิ่มแรงจูงใจต่างชาติ

EA ชี้ธุรกิจแบตเตอรี่ รับเต็มมาตรการหนุนใช้รถยนต์ EV เตรียมเดินหน้าขยายกำลังผลิตเพิ่ม พร้อมแนะรัฐบาลขยายแพ็คเกจสู่ “บัส-บรรทุก” คาดเพิ่มแรงจูงใจต่างชาติลงทุนตั้งฐานผลิตในไทย


นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้น” ออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2565 มีประเด็นสำคัญดังนี้

มาตรการส่งเสริมรถ EV จะส่งผลต่อภาพรวมตลาดรถ EV ประเทศไทยในช่วง 6-12 เดือนหลังจากนี้อย่างไร

มองว่าในระยะสั้นจะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงของการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แต่มองว่าประมาณ 1 ปีน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยผู้ประกอบการแต่ละรายจะรู้ว่า Segment เป็นที่ต้องการของตลาด และตัดสินใจได้แล้วว่าจะลงทุนใน Segment ใด

ทั้งนี้มองว่าการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการมาตรการส่งเสริมรถ EV ในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ในต่างประเทศมองเห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สามารถนำไปพิจารณาเทียบเคียงกับเวียดนาม กับอินโดนีเซีย ว่าประเทศไทยน่าสนใจมากเพียงใด สิ่งที่จะสามารถดึงดูดให้ผู้ประกอบการต่างชาติพิจารณาเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ก็คือสิ่งที่จะออกตามาหลังจากนี้ทั้งเรื่องโปรโมชั่น หรือนโยบายสนับสนุนจากทางรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสถานีชาร์จ โรงแบตเตอรี่ และซัพพลายเชนทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่

อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่จากที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการภาคขนส่งหลายๆ รายพบว่า ผู้ประกอบการมีความสนใจที่จะเปลี่ยนเป็นรถ EV อยู่แล้ว ฉะนั้นเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลเห็นชอบในมาตรการส่งเสริมรถ EV แล้ว คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2565 น่าจะเห็นถึงดีมานด์ของตลาดได้ชัดเจนขึ้น และจะเป็นตัวชี้วัดว่าซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดจะเข้ามาลงทุนที่ประเทศไทยหรือไม่

มาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อธุรกิจ EV ในเครือ EA อย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าธุรกิจสถานีชาร์จมีแนวโน้มที่จะเติบโตสอดคล้องไปกับเป้าหมายที่ทางรัฐบาลมองไว้ ทั้งนี้หากมองในภาพลึกจะเห็นว่าจริงๆ แล้วแพ็คเกจตัวนี้เน้นไปที่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (Passenger Car) ซึ่งมีน้อยมากที่กลุ่ม Passenger Car จะมาเป็นลูกค้าของสถานีชาร์จที่เป็น Public Station โดยเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะชาร์จไฟที่บ้าน แต่สถานีชาร์จ Public Station มีไว้เพื่อความสบายใจ เพื่อสร้างให้เกิดดีมานด์ให้คนซื้อตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

นอกจากนั้นในแพ็คเกจมีการพูดถึงเงื่อนไขที่ว่าต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศไทย ซึ่งมองว่าเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลที่ต้องการสร้างระบบนิเวศภายในประเทศไทย เพื่อให้ต้นทุนสามารถแข่งขันได้ ซึ่ง EA จะได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้

แพ็คเกจหรือแนวทางหลังจากนี้ควรเป็นในรูปแบบใด

สเต็ปถัดไปหลังจากเน้น Passenger Car รัฐบาลควรมองในส่วนของรถเชิงพาณิชย์ รถสาธารณะ เพราะเป็นรถที่ใช้งานหนัก และเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่จะสามารถสร้างให้อุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในแต่ละปีมีรถบัส รถบรรทุกจดทะเบียนรวมกันไม่ต่ำกว่า 90,000-100,000 คัน และมีรถจดทะเบียนอยู่ในระบบทั้งหมดประมาณ 1.2-1.3 ล้านคัน ซึ่งรถในกลุ่มนี้เป็นรถขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นด้วยปริมาณที่มากจะทำให้เกิดโรงแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ และเกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง การดึงซัพพลายเชนก็จะเกิดขึ้นตามไปด้วย

จำเป็นต้องปรับโมเดลธุรกิจแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับแพ็คเกจส่งเสริมรถ EV หรือไม่

หลังจากเริ่มโรงแบตเตอรี่ เฟส 1 ซึ่งเอาไว้ใช้ภายในกันเองไปแล้ว และได้ทำการศึกษาตลาดเพิ่มเติม พบว่ามีกระแสตอบรับค่อนข้างดีและมีดีมานด์มากขึ้น จึงได้เริ่มวางแผนที่จะขยายกำลังผลิตเป็น 2GWh ซึ่งในเบื้องต้นมีการวางแผน ออกแบบ คำนวณเงินลงทุนไว้บ้างแล้ว

มุมมองต่อไทม์ไลน์การผลักดันลงทุน EV ของรัฐบาลหลังจากนี้ควรเป็นอย่างไร

มองว่าในไตรมาส 2 ต้องเริ่มพูดถึงเรื่องรถสาธารณะ รถเชิงพาณิชย์แล้ว เพื่อให้นักลงทุนมองเห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะผลักดันและส่งเสริมการลงทุน EV ในทุก Segment

Back to top button