คลังหั่นเป้ารายได้ “สรรพสามิต” ปี 65 เหลือ 5.6 แสนลบ. หลังลดภาษีน้ำมันดีเซล

“สรรพสามิต” ปรับเป้าเก็บรายได้ปี 65 เหลือ 5.6 แสนลบ. หลังชะลอปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน หวังช่วยเหลือประชาชน ประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว เชื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 เดือนเพียงพอ ไม่ต้องขยายเวลาเพิ่ม


นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2565 ของกรมสรรพสามิต อยู่ที่ 5.97 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้มีการรวมรายได้จากการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งไม่สามารถทำได้ตามกำหนด จำนวน 3 หมื่นล้านบาท ทางกรมฯ จึงได้หารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอลดเป้าหมายการจัดเก็บในส่วนนี้ลง ดังนั้นเป้าหมายการเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2565 จึงอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท

สำหรับเป้าหมายดังกล่าว ยังไม่รวมผลกระทบจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะทำให้รายได้หายไปอีก 1.7 หมื่นล้านบาท

“ภาษีน้ำมันที่หายไป 1.7 หมื่นล้านบาท จากการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรนั้น เป็นการช่วยเหลือประชาชน และช่วยประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ก็จะส่งผลดีกับการจัดเก็บภาษีที่จะโตได้มากกว่าเศรษฐกิจอย่างแน่นอน”  นายลวรณ กล่าว

นอกจากนี้ เชื่อว่าการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 เดือนน่าจะเพียงพอ ไม่ต้องขยายเวลาเพิ่ม เนื่องจากระหว่างนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะไปเร่งแก้ปัญหาเรื่องบัญชี ซึ่งจะทำให้สามารถกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ จำนวน 3 หมื่นล้านบาท ได้ในเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งจะทำให้มีเงินมาอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงได้อย่างเพียงพอ

ขณะที่ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564 – ม.ค.2565) กรมสรรพสามิต สามารถจัดเก็บรายได้ จำนวนทั้งสิ้น 186,553 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่เป็นไปตามเป้าหมายใหม่ที่ได้ขอปรับลดจากกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ รายได้ภาษีสรรพสามิตทุกประเภท โดยเฉพาะภาษีน้ำมัน รถยนต์ และเบียร์ มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยในปีงบประมาณ 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง กรมสรรพสามิตจึงได้ชะลอการปรับปรุงโครงสร้างภาษีใหม่ แต่มุ่งเน้นออกมาตรการภาษี เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และผู้ประกอบอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ได้แก่

1.มาตรการขยายระยะเวลาสำหรับสินค้าสุราสามทับที่นำไปทำการแปลงสภาพเพื่อเพิ่มปริมาณเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในราคาที่เหมาะสมและมีปริมาณเพียงพอ

2.มาตรการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น เพื่อช่วยเหลือสายการบินภายในประเทศให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ลดการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมการบิน และสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ

3.มาตรการขยายระยะเวลาการขึ้นอัตราภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 เพื่อเป็นการเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และชะลอการปรับราคาสินค้าต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อย

4.มาตรการอนุมัติฉลากสินค้าสุราผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสงค์จะนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักรในการยื่นคำขอใช้ฉลากปิดภาชนะบรรจุสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร และเพื่อให้การอนุมัติฉลากเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

5.มาตรการภาษีสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ประเภทน้ำมันชีวภาพสังเคราะห์ (Renewable Diesel : RD) เพื่อช่วยเหลือรายได้เกษตรกร นำผลผลิตทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น

6.มาตรการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบ และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ โดยให้มีระยะเวลาในการปรับตัว เพื่อรองรับกับโครงสร้างภาษีบุหรี่ซิกาแรตตามมูลค่าแบบอัตราเดียวในอนาคต

7.มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่สำหรับผู้ประกอบการรายเดิม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง วัน 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจประกอบกิจการได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

นอกจากนี้ทาง กรมฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการจัดเก็บภาษีเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และพลังงาน โดยจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิต เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังอย่างยั่งยืน

อาทิเช่น การพัฒนาระบบ Direct Coding และ E-stamp ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสินค้าสุรา เบียร์ และยาสูบ รวมถึงการนำระบบ e-Lock เพื่อควบคุมและตรวจสอบการส่งออกน้ำมัน มาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนภายในประเทศ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเยียวยาภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยจะดำเนินการยกระดับการให้บริการที่ทันสมัย สะดวก และรวดเร็ว มุ่งพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรต้นแบบโดยยึดหลักธรรมาภิบาล สร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชน ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน

Back to top button