CPT งบปี 64 พลิกขาดทุน 86 ลบ. เซ่นยอดขายลด หลังขาดแคลนวัตถุดิบ
CPT รายงานงบปี 64 พลิกขาดทุน 86 ลบ. จากปีก่อนกำไร 5.5 ลบ. หลังพิษ "โควิด" ฉุดยอดขายลดลง เนื่องจากบริษัทไม่มีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและส่งมอบลูกค้า
บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPT รายงานผลประกอบการปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.64 ดังนี้
โดยบริษัทมีรายได้จากการขายสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 2563 เป็นจำนวนเงิน 282.45 ล้านบาท และ 633.51 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบวัตถุดิบจาก Supplier ทำให้งานขายบางส่วนยังอยู่ระหว่างการผลิตและรอส่งมอบ
ทั้งนี้รายได้จากการให้บริการรับเหมาและติดตั้งเป็นงานให้บริการรับเหมาและติดตั้งสายไฟ (Cabling Installation) และการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) โดยรายได้สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 2563 เป็นจำนวนเงิน 471.29 ล้านบาท และ 277.87 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากได้งานโครงการที่มีมูลค่าสูงหลายงาน และส่งมอบงานตามความคืบหน้าของงานโครงการได้หลายงาน
ขณะที่รายได้จากการให้บริการสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 2563 เป็นจำนวนเงิน 25.00 ล้านบาท และ 31.69 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งมีรายได้จากงานบริการลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเข้าบริการที่หน้างานลูกค้าได้เต็มกำลัง
ส่วนต้นทุนขาย องค์ประกอบหลักของต้นทุนงานขาย คือ ต้นทุนค่าสินค้า คิดเป็นประมาณร้อยละ 70-80 ของต้นทุนขายรวม อันได้แก่วัตถุดิบ อุปกรณ์ที่นำมาประกอบระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักร เช่น มอเตอร์ อินเวอร์เตอร์ PLC และอื่นๆ ซึ่งมีการสั่งซื้อจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ต้นทุนขายอื่นๆ เช่น ค่าแรงทางตรง ค่าวัสดุ สิ้นเปลือง และค่าเสื่อมราคา คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20-30 ของต้นทุนขายรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 2563 มีมูลค่าเท่ากับ 266.48 ล้านบาท และ 555.46 ล้านบาท ผันแปรตามยอดขายที่ลดลงและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
ด้านต้นทุนการให้บริการรับเหมาและติดตั้งเป็นต้นทุนงานบริการรับเหมาและติดตั้งที่เกิดขึ้นจริงของงานที่ทำเสร็จจนถึงวันสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 2563 มีมูลค่าเท่ากับ 525.10 ล้านบาท และ 255.52 ล้านบาท ต้นทุนสูงขึ้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ เหล็ก ทองแดง สายไฟ เป็นต้น ประกอบกับมาตรการในการป้องกัน โรคโควิด-19 ทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และมีต้นทุนโครงการในอดีตที่ใช้เกินจากที่ประมาณการไว้
โดยต้นทุนการให้บริการ ประกอบด้วยต้นทุนการให้บริการ (Service) และต้นทุนการซ่อมแซม (Repair) ที่เกิดขึ้นจากงานที่หมดอายุรับประกันสินค้าแล้ว (Expired Warranty) สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 2563 มีมูลค่าเท่ากับ 17.38 ล้านบาท และ 22.07 ล้านบาท ซึ่งมียอดลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ส่วนค่าใช้จ่ายในการขาย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 2563 มีค่าใช้จ่ายในการขาย 27.18 ล้านบาท และ 37.26 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเชิงรุก เพิ่มบุคลากรในทีมงานฝ่ายขาย เพื่อให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่ค้างส่งมอบของบริษัท
ด้านค่าใช้จ่ายในการบริหาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 2563 มีมูลค่าเท่ากับ 59.61 ล้านบาท และ 71.76 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากมีการบริหารการจัดการภายในที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทและบริษัทย่อยมีขาดทุนสุทธิ 86.11 ล้านบาท และสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 5.53 ล้านบาท เนื่องจากความล่าช้าในการส่งมอบวัตถุดิบจาก Supplier ทำให้งานขายบางส่วนยังอยู่ระหว่างการผลิตและรอส่งมอบ จึงทำให้การรับรู้รายได้ในปีนี้ยังต่ำอยู่ อีกสาเหตุหนึ่งเนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดปรับราคาสูงขึ้น ได้แก่ เหล็ก ทองแดง สายไฟ เป็นต้น
ประกอบกับมาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และมีต้นทุนโครงการในอดีตที่ใช้เกินจากที่ประมาณการไว้