MAKRO โกยกำไรปี 64 พุ่งเท่าตัว รับรายได้โต-ควบรวม “โลตัสส์” หนุน เคาะปันผล 0.32 บ.

MAKRO รายงานผลประกอบการงวดปี 64 มีกำไร 1.4 หมื่นลบ. โตกว่าเท่าตัว หลังควบรวมกิจการ “โลตัสส์” แจกปันผล 0.32 บ. ขึ้น XD 3 มี.ค. เคาะจ่าย 19 พ.ค.65


บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO รายงานผลประกอบการงวดปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.64 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

โดยในปี 2564 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 258,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 44,707 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.9 เมื่อเทียบกับปี 2563 สาเหตุหลักจากการรวมกิจการกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ในขณะที่มีการเติบโตของยอดขายจากกลุ่มธุรกิจค้าส่ง ร้อยละ 3.4 จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจแม็คโครประเทศไทย

รวมทั้งการเปิดดำเนินการสาขาใหม่รวม 5 สาขาในปี 2564 และยอดขายที่เข้ามาเต็มปีจากสาขาที่เปิดดำเนินการเมื่อปี 2563 ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจฟูดเซอร์วิสที่ฟื้นตัวจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างช้า ๆ และการปรับกลยุทธ์โดยขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงและห้างค้าปลีกสมัยใหม่

สำหรับธุรกิจแม็คโครต่างประเทศยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม O2O เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจแม็คโครต่างประเทศมียอดขายโดยรวมลดลงจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย

นอกจากนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการให้บริการจำนวน 4,177 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าและรายได้จากการให้บริการศูนย์การค้าจำนวน 2,521 ล้านบาท และรายได้อื่นจำนวน 890 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 7,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,968 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.2 จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลหลักมาจากรายได้ค่าเช่าและการให้บริการศูนย์การค้าของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกจำนวน 2,174 ล้านบาท ดังนั้นในปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 266,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 47,675 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนการเช่าและการให้บริการต้นทุนในการจัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการบริหารรวมทั้งสิ้น 27,536 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมเท่ากับร้อยละ 10.3 โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 9,748 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.8 เป็นผลมาจากต้นทุนการเช่าและการให้บริการต้นทุนในการจัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการบริหารของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรวมทั้งสิ้น 8,645 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มธุรกิจค้าส่งเพิ่มขึ้นจำนวน 905 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้า (Bubble and Seal) ภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นตามจำนวนสาขา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวกับการรับโอนกิจการ

โดยในปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 13,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 7,124 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 108.6 เป็นผลจากกำไรสุทธิของกลุ่มธุรกิจค้าส่งจำนวน 6,773 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน กำไรสุทธิจากกลุ่มธุรกิจค้าปลีกจำนวน 397 ล้านบาท และผลจากการรวมกิจการซึ่งทำให้เกิดกำไรทางบัญชีจากการรวมธุรกิจแบบขั้นจำนวน 6,714 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.38 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน

อนึ่ง ในไตรมาสที่ 4 ปี2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 100,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีต้นทุนการเช่าและการให้บริการ ต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารรวมจำนวน 13,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 206.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้เมื่อหักต้นทุนทางการเงินค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ และส่วนแบ่งกำไรส่วนที่เป็นของส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม ทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 9,094 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.58 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 327.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

พร้อมกันนี้บริษัทเตรียมปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค.64 – 31 ธ.ค.64 เป็นเงินสด 0.32 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 3 มี.ค.65 และกำหนดจ่าย 19 พ.ค.65

Back to top button