“ฟินันเซีย” คาด GDP ปี 65 ขยายตัว 4.5% แนะสะสม 9 หุ้นเด่นพื้นฐานแกร่ง
"ฟินันเซีย" คาด GDP ปี 65 ขยายตัวกรอบ 3.50-4.50% แนะสะสมกลุ่ม Value และ Domestic Play เป็นหลัก ได้แก่ BCP, CPALL, CPN, HMPRO, ORI, SC, STANLY, TOP, TTB
บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (22 ก.พ. 2565) ว่า GDP ไตรมาส 4/2564 ของไทย เพิ่มขึ้น 1.80% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 1.90% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาดมากที่ 0.70% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการฟื้นตัวตามการ Reopening หลังจาก Full Lockdown ในไตรมาส 3/2564 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ส่งผลให้ GDP ปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.60% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าที่ NESDC และ BoT คาดที่ 1.20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 0.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4/2564 ฟื้นตัวได้ดี 3.60% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 0.30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามการคลาย Lockdown หลังถูกกดดันหนักพอสมควรในไตรมาส 3/2564 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสิ้นไตรมาส 4 เดือน ธ.ค. ฟื้นกลับมาอยู่ที่ 46.20 หลังจากไตรมาสก่อนที่ 41.40 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 23 ปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างช้าๆ เพิ่มขึ้น 1.70% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 0.90% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยจบปี 2564 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้น 0.30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งถูกกระทบจากการ Lockdown หลายระลอก
สำหรับเครื่องยนต์ที่หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2564 คือการบริโภคภาครัฐที่เร่งตัวเพิ่มขึ้น 4.10% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 8.10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากการเร่งเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจา 35.50% สูงกว่าไตรมาสก่อนๆ การใช้จ่ายสำหรับรักษา COVID-19 รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวม ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 8.20% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1.70% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เริ่มเห็นการเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน และคาดว่าจะมีโมเมนตัมดีต่อเนื่องในปี 2565 จากงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการที่เริ่มเดินหน้า และจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการเติบโตของประเทศในระยะยาว
ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้ายังแข็งแรงโดยไตรมาส 4/2564 ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 17.70% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐฯและยุโรปที่เริ่มใช้ชีวิตตามปกติและยกเลิกมาตรการคุมเข้มอย่างต่อเนื่อง ส่วนเอเชียทยอยฟื้นตัวได้เช่นกัน รวมถึงยังได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทที่ทรงตัวสูงบริเวณบาทต่อดอลลาร์ โดยกลุ่มสินค้าที่ยังเติบโตแข็งแกร่ง ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารสัตว์
ทั้งนี้ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/2564 และปี 2564 ที่ออกมาดีกว่าคาดเป็น Sentiment บวกและสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/2564-ไตรมาส 3/2564 ที่มี Full Lockdown และเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาส 4/2564 หลังผ่อนคลายมาตรการเกือบเป็นปกติทั้งหมดโดยเฉพาะภายในประเทศ
ส่วนภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเปิดใช้มาตรการ Test & Go อีกครั้งในเดือน ก.พ.2565 ซึ่งทางฝ่ายวิจัยคาดว่าเป็นสัญญาณบวกและคาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเห็นการฟื้นตัวอย่างมีนัยยะในครึ่งหลังปี 2565 โดยเฉพาะในไตรมาส 4/2565 ที่เข้า High Season อีกครั้ง โดย NESDC คาด GDP ปี 2565 เติบโตเร่งตัวในกรอบ 3.50-4.50% ส่วน BoT ปัจจุบันคาดเพิ่มขึ้น 3.90% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนคือการบริโภคและการลงทุนที่จะเร่งตัว ส่วนการท่องเที่ยวจะหนุนปี 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยยังคงเป้าหมาย SET Target ปีนี้ที่ 1,770 จุด (อิงค่า EPS 96 บาทและค่า PER 18.50 เท่า) โดยระดับดัชนีปัจจุบันมี Upside เหลือราว 4% ซึ่งไม่สูงนัก สำหรับการซื้อลงทุนระยะกลาง-ยาว จึงมองจังหวะย่อตัวลงหาแนว 1,680-1,660 จุดเป็นระดับที่เริ่มน่าสนใจ ขณะที่แนวโน้มนโยบายการเงินที่ตึงตัวโดยเฉพาะ FED ซึ่งกดดันหุ้นที่ค่า PER สูงอย่างต่อเนื่อง จึงยังเน้นกลยุทธ์ลงทุนในกลุ่ม Value และ Domestic Play เป็นหลักซึ่งมีค่า PER/PBV ต่ำกว่าตลาดหรือต่ำกว่าตัวเองในช่วงก่อน COVID-19 หุ้นที่ทางฝ่ายวิจัยชอบ ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO, บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI, บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC, บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB