WHA งบปี 64 ฟาดกำไร 2.6 พันลบ. ไฟเขียวปันผล 0.0735 บ. ลุยทรานส์ฟอร์มธุรกิจ

WHA งบปี 64 ฟาดกำไร 2.6 พันลบ. ไฟเขียวปันผล 0.0735 บ. พร้อมลุยเดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจ สู่การขับเคลื่อนภายใต้ 4 กลุ่มธุรกิจในเครือ คาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 21,000 ล้านบาทในปี 2569 และตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 65 ไว้ที่ 1,250 ไร่


บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2564 ว่าบริษัทฯ มีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7,239.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ 4,550.70 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 2,034.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 กำไรสุทธิ 1,453.90 ล้านบาท

ขณะที่รายได้รวมจากการดำเนินงานปกติขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7,218.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ 4,482.60 ล้านบาท  ขณะที่กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 2,014.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 กำไรสุทธิ 1,389.30 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 11,963.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.20% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 9,406.60 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่  2,590.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.60% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,523.70 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงมั่นใจในความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน และผลประกอบการประจำปีของบริษัทฯ ทั้งนี้ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลงวดปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.1002 บาท โดยบริษัทฯ ได้มีการจ่ายปันผลไปแล้ว จำนวน 0.0267 บาทต่อหุ้น และเตรียมจ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมอีก 0.0735 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 และกำหนดการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงของรายได้และกระแสเงินสดภายใต้กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจน การมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ตลอดจนความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการบริหารการเงินท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ 4 กลุ่มธุรกิจว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ มีการเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยมีบริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 1,160.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดโครงการและลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงานหรือคลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติมกว่า 166,310 ตารางเมตร และสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงอีกจำนวน 176,595 ตารางเมตร โดยสิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,550,092 ตารางเมตร

โดยทางบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขายทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ WHART ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ผ่านมา มูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,550 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการคลังสินค้าประเภท Built-to-Suit จำนวน 2 โครงการ และโครงการประเภท General Warehouses จำนวน 1 โครงการ โดยมีพื้นที่เช่าอาคารรวมทั้ง 3 โครงการจำนวน 184,329 ตารางเมตร

ทั้งนี้ นอกจากการเปิดตัวโครงการคลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องแล้ว บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและแสวงหา Synergy ผ่านการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ โดยช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการลงทุนในบริษัท Startups เพื่อต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ การขยายฐานธุรกิจและการสร้าง Business Model ที่แตกต่างจากธุรกิจเดิม โดยในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงทุนใน Giztix สตาร์ทอัพชั้นนำด้าน e-Logistic ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ กับผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศ จากเดิมก่อนหน้านี้บริษัทฯ

นอกจากนี้บริษัทฯยังได้เข้าซื้อหุ้นใน บริษัท สตอเรจ เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการให้เช่าพื้นที่จัดเก็บทรัพย์สินส่วนบุคคลระดับพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ “i-Store Self Storage”มาแล้ว ทำให้ในปีนี้ บริษัทฯยังมุ่งเน้นหาพันธมิตรใหม่ๆเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์บริการต่างๆ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะสมัยใหม่ เพื่อขับเคลื่อนด้วย AI IoT  Big Data ระบบอัตโนมัติ และวิทยาการหุ่นยนต์ มาปรับใช้เพื่อพัฒนาและต่อยอดการดำเนินธุรกิจ พร้อมหาโอกาสใหม่ ๆ ในเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ควอนตัม และระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า

พร้อมกับบริษัทฯ ยังเดินหน้าพัฒนาอาคารสำนักงาน (WHA Office Solutions) ระดับพรีเมี่ยมที่มีอยู่ทั้ง 6 แห่งในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เพื่อเป็นปักหมุดแลนด์มาร์คประเภทสำนักงานแห่งใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มประเภทธุรกิจ

สำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมสำหรับปี 2564 รวม 1,729.7 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากปี 2563 มีสาเหตุหลักจากรายได้ค่าผ่านทาง (right of ways) ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการโอนที่ดินปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยในสิ้นปี 2564 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 891 ไร่ แบ่งเป็นในไทย 850 ไร่ และเวียดนาม 41 ไร่ และยอดเซ็น MOU รวม 96 ไร่ (เวียดนาม) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากนโยบายเปิดประเทศ มาตรการปลดล็อคการเดินทาง รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายภายหลังจากมีการเร่งฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง นอกจากนี้การย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากการแข่งขันทางการค้า เทคโนโลยี หรือการขาดแคลนพลังงานในประเทศจีน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯในปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันยอดขายที่ดินที่เพิ่มขึ้นยังรวมถึงดีมานด์ของลูกค้าในอุตสาหกรรมมูลค่าสูงโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ อาหาร และด้านการแพทย์ ที่แสดงความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

โดย ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยทั้งสิ้น 11 แห่ง โดยบริษัทฯมีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยปี 2565 บริษัทฯ เตรียมขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เพิ่มอีก 580 ไร่ ซึ่งได้เริ่มการก่อสร้างแล้วในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 รวมถึงแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 จำนวน 1,100 ไร่ ตามแผนการร่วมทุนกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด ในช่วงปลายปี 2565 นี้

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ในปี 2564 บริษัทฯ มียอดขายที่ดิน ทั้งสิ้น 41 ไร่ ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2563 เนื่องจากประเทศเวียดนาม มีการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้การส่งมอบพื้นที่เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมีความล่าช้ากว่ากำหนด อย่างไรก็ตาม ในฐานะประเทศ       ที่มีศักยภาพด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่โดดเด่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศเวียดนามยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน

บริษัทฯ จึงเร่งดำเนินการก่อสร้างและจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามเพิ่มเติม จากปัจจุบันเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน เสร็จสิ้นการก่อสร้างเฟส 1 ขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีผู้เช่ากว่า 50% ของพื้นที่ บริษัทฯ จึงเร่งดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 บนพื้นที่ขนาด 2,200 ไร่ โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในไตรมาส 1 ปี 2565 นี้  ดังนั้นหากการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะส่งผลให้เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 11,550 ไร่

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ได้แก่ WHA Smart Technology Industrial Zone – Thanh Hoa และ WHA Northern Industrial Zone ในจังหวัดถั่งหัว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7,500 ไร่ โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ

ขณะเดียวกันนางสาวจรีพร กล่าวเพิ่มเติมถึงธุรกิจสาธารณูปโภคว่า ผลประกอบการของธุรกิจน้ำในปี 2564 ที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างโดดเด่น ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคเท่ากับ 2,351.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1% โดยมีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งหมดในประเทศไทยและต่างประเทศสำหรับปี 2564 รวม 135 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 18%จากปี 2563 โดยเป็นสัดส่วนปริมาณยอดจำหน่ายน้ำในประเทศเท่ากับ 112 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน

ผลดังกล่าวสะท้อนการเติบโตของยอดจำหน่ายน้ำในทุกประเภทผลิตภัณฑ์ ที่ปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการใช้น้ำของทั้งลูกค้ารายเดิม อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการ ปิโตรเคมี (GC Oxirane) และลูกค้ารายใหม่ อาทิ Gulf SRC ที่ทยอยเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา สำหรับส่วนยอดขายน้ำในประเทศเวียดนามนั้น มีปริมาณการจำหน่ายน้ำโครงการ Duong River ปี 2564 เท่ากับ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่

นอกจากนี้ ยังมีปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Products) ในปี 2564 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เท่ากับ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 62% จากปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม เช่น โครงการ Wastewater Reclamation และการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) โดยใช้เทคโนโลยีเมมเบรนรี เวิร์สออสโมซิส ควบคู่ไปกับการพัฒนา Smart Utilities Service Platform และ Innovative Solution เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด บริษัทฯ ได้ร่วมกับนิคมอุตสหกรรมเอเชีย ให้บริการน้ำรีไซเคิลและน้ำปราศจากแร่ธาตุ ให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (มาบตาพุด) ประเดิมลูกค้ารายแรกเป็นโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ ภายใต้อายุสัญญา 15 ปี โดยมีกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจสาธารณูปโภคให้กับบริษัทฯ ซึ่งสอดรับกับกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่มุ่งพัฒนาการทำธุรกิจสาธารณูปโภคตามแผนการขยายพื้นที่ในการให้บริการสาธารณูปโภคแบบครบวงจร ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการฯ ของบริษัทฯทั้ง 11 แห่ง และในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในเอเชียด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงาน ​

อีกทั้งคาดว่ายอดขายและบริหารจัดการน้ำเสียจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ด้วยแผนการขยายธุรกิจสาธารณูปโภคควบคู่ไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ทั้งในและต่างประเทศของกลุ่มบริษัทฯ อาทิ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟสที่ 2 และเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ทัญฮว้า จำนวน 2 แห่ง ที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ในส่วนของ ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในปี 2564 เท่ากับ 1,192.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมาจากการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของรายได้ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และผลการดำเนินงานอันแข็งแกร่งของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 โรงที่จำหน่ายไฟฟ้าให้ EGAT และลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจ IPP ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One เนื่องจากการปิดซ่อมทั้งการบำรุงใหญ่ตามแผนและการปิดซ่อมนอกแผนงานที่ส่งผลทำให้โรงไฟฟ้า IPP มีค่าความพร้อมจ่ายลดลง

สำหรับในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ เซ็นต์สัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เพิ่มเติมอีกจำนวน 7 เมกะวัตต์ รวมเป็นจำนวนเซ็นต์สัญญาสะสม 92 เมกะวัตต์ มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ และเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติมอีกราว 7 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ ที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด 57 เมกะวัตต์ โดย ณ สิ้นปี 2564บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 607 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากโครงการแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะเพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้ ERC Sandbox แล้ว บริษัทฯ ยังได้พัฒนาโครงการ Battery Energy Storage System (BESS) เพื่อนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเสนอเป็นบริการให้แก่ลูกค้า โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้เปิดตัวโครงการโซลาร์รูฟท็อป ขนาด 820 KWp พ่วงระบบกักเก็บพลังงานขนาด 550 KWh ภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) พร้อมศึกษาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Microgrid เพื่อรองรับการให้บริการและเพิ่มเสถียรภาพของระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าโครงการต่างๆ ดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้พอร์ตพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ เติบโตเพิ่มขึ้นอีกราว 100-200 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนรวม 300 เมกะวัตต์ ในปี 2566 ตามแผนที่วางไว้

พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะลดโลกร้อน จากการพัฒนาแผนงานการกำกับดูแลด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดคาร์บอนภายในองค์กร รวมถึงการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามเจตนารมณ์ของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และการประชุม COP 26 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ที่ผ่านมา

โดยบริษัทฯ ได้ขานรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจากโครงการพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,500 ตันคาร์บอน ในปี 2562 เป็น 26,378 ตันคาร์บอน ในปี 2564 อีกทั้งยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำทั้งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และกลุ่มที่สนใจเข้ามาลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ความสนใจความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ส่วนธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริษัทฯยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการ และนำเสนอนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร รวมถึงเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยปัจจุบันได้มีการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจการบริหารจัดการเสาโทรคมนาคมใหม่ทั้งหมดภายในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ

รวมถึงการก่อสร้างเสาโทรคมนาคมและสถานีฐาน และการให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาเช่าพื้นที่บนเสาโทรคมนาคมเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรับและกระจายสัญญาณเครือข่ายทั้ง 3G, 4G และ 5G พร้อมขยายการติดตั้งโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่ง และมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 11 แห่งภายในปี 2565

ในขณะที่ธุรกิจศูนย์บริการระบบข้อมูลสารสนเทศ (Data Center) บริษัทฯ จะมีกำไรจากการจำหน่ายดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่ง จากการปรับปรุงแผนธุรกิจดิจิทัลของบริษัทฯ ซึ่งคาดว่าธุรกรรมจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565

อีกทั้งนางสาวจรีพร  ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการแผนการดำเนินธุรกิจสำหรับ ปี 2565 ว่า บริษัทฯมุ่งขยายธุรกิจในประเทศไทยไปพร้อมกับการมองหาโอกาสใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยบริษัทฯ คาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 21,000 ล้านบาทในปี 2569 หรือ 1.75 เท่าจากปี 2564 จากการเติบโตทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจโลจิสติกส์ในปีนี้ คาดว่าจะมีพื้นที่มีการพัฒนาใหม่ และโครงการเปิดใหม่รวม 185,000 ตารางเมตร และคาดว่ามีสัญญาเช่าระยะสั้นผลตอบแทนสูง 100,000 ตารางเมตร

ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าจะมีทรัพย์สินภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารรวมทั้งสิ้น 2,685,000 ตารางเมตร และตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สินคิดเป็นพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 180,000 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีแผนเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมผู้ถือหน่วยของกอง WHART และ HREIT เพื่อขออนุมัติในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ต่อไป

นอกจากนี้ ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 2565 ไว้ที่ 1,250 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 โดยแบ่งเป็นการขายที่ดิน ในประเทศ จำนวน 950 ไร่ และเวียดนาม 300 ไร่ เช่นเดียวกับธุรกิจสาธารณูปโภคที่ยังมองหาโครงการใหม่ ๆ รวมถึงโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติมในอนาคต โดยในปี 2565 บริษัทฯ คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 153 ล้านลูกบาศก์เมตร และธุรกิจไฟฟ้าการให้บริการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์

ผลดังกล่าวส่งผลให้คาดว่ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามสัดส่วนการถือหุ้นถึง 700 เมกะวัตต์ และแสวงหาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) และพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบลงทุนใน 5 ปีที่ตั้งไว้ 50,000 ล้านบาท เพื่อทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ความยั่งยืนในระยะยาว

Back to top button