THAI กำไรปรับโครงสร้างหนี้ หนุนงบปี 64 พลิกฟื้น 5.5 หมื่นลบ.
THAI รายงานงบปี 64 พลิกกำไร 5.5 หมื่นลบ. รับกำไรปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงรายการปรับปรุงผลประโยชน์พนักงานจากการปรับโครงสร้างองค์กร และรายได้อื่นๆ หนุน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลประกอบการงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ ดังนี้
โดยบริษัทมีรายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ จำนวน 10,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,035 ล้านบาท (58.5%) โดยมีรายได้ส่วนใหญ่จากการให้บริการแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ไปยังเมืองปลายทางตามความต้องการของลูกค้า เป็นผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหน่วยสูงขึ้นถึง 73.2% ถึงแม้จะมีปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ลดลง 8.1% จากการที่บริษัทฯและบริษัทย่อยยกเลิกเทียวบินแบบประจำทั้งหมดเป็นการชั่วคราวเช่นเดียวกับการขนส่งผู้โดยสาร
ส่วนรายได้อื่นมีจำนวน 2,175 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,460 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการบันทึกรายได้จากการหักกลบลบหนี้ค่าบริการและซ่อมบํารุงเครื่องยนต์ จำนวน 45.5 MUSD หรือประมาณ 1,457 ล้านบาท ตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ
ส่วนค่าน้ำมันเครื่องบินจำนวน 5,926 ล้านบาท คิดเป็น 13.6% ของค่าใช้จ่ายรวม ลดลง 6,460 ล้านบาท (52.2%) เป็นผลมาจากจำนวนเที่ยวบินลดลง ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันต่ำกว่าปีก่อน แต่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน 11.4%
อย่างไรก็ตาม ในงบปี 2564 บริษัทมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 6.18 หมื่นล้านบาท, กำไรจากการขายเงินลงทุน 2.8 พันล้านบาท, กำไรจากการขายเงินทรัพย์สิน 1.5 พันล้านบาท รวมถึงรายการปรับปรุงผลประโยชน์พนักงานจากการปรับโครงสร้างองค์กร 8.8 พันล้านบาท
พร้อมกันนี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้จัดหาสินเชื่อใหม่กับกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ที่มีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ในฐานะอันเดอร์ไรท์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ซึ่งทั้ง 5 สถาบันการเงินเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท โดยมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศและต่างประเทศ รวมสำนักงานใหญ่ของการบินไทย และเครื่องบินที่บริษัทเป็นเจ้าของและรอการขาย จำนวน 45 ลำ
ทั้งนี้ เงินกู้ใหม่ดังกล่าวจะนำไปใช้คืนค่าตั๋วโดยสารที่ค้างจ่ายอยู่ในช่วงที่ไม่ได้ทำการบินอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทจะมีการปรับโครงสร้างทุน เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการเดิมระบุในแผนมีเงินทุนใหม่เข้ามา 5 หมื่นล้านบาท ก็ปรับมาเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากภาครัฐไม่ได้นำเงินทุนใหม่ใส่เข้ามาให้บริษัท โดยการปรับโครงสร้างทุนใหม่จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกได้เร็วกว่ากำหนดการเดิม โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการยกร่างแผนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ย คาดจะยื่นต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ในปลายเดือน มี.ค.65 จากนั้นยื่นให้ศาลล้มละลาย และจะเริ่มดำเนินการต่อเมื่อศาลมีคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนกระทรวงการคลัง บริษัทได้รับแจ้งว่าจะยังคงต้องการที่จะถือหุ้นใน THAI อย่างน้อย 40% ซึ่งกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง แต่ก็ยังมีแบงก์รัฐ คือธนาคารออมสิน และ KTB ที่เป็นธนาคารเจ้าหนี้ จะถือหุ้นเพิ่มขึ้น จากแผนฟื้นฟูที่จะให้แปลงหนี้เป็นทุนได้ และยังมีกองทุนวายุภักษ์อีกก็เป็นส่วนของภาครัฐ
อนึ่ง ก่อน THAI เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ กระทรวงการคลัง ถือหุ้นใหญ่ที่ 47.86% ธ.ออมสินถือ 2.13% กองทุนวายุภักษ์ถือ 17.08%
นายปิยสวัสดิ์ คาดว่าการบินไทยจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูก่อน 5 ปี หลังปรับโครงสร้างทุนใหม่ เนื่องจากบริษัทได้ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก ขณะเดียวกันหลายประเทศก็ทยอยเปิดประเทศ อย่างออสเตรเลียเปิดแล้ว ประเทศในเอเชียก็ทยอยเปิดประเทศมากขึ้น คาดว่าในครึ่งปีหลัง เกาหลี ญี่ปุ่น น่าจะทยอยเปิดประเทศ ส่วนจีนเราไม่ได้หวังว่าจะเปิดประเทศปีนี้ แต่ถ้าเปิดได้ก็ถือเป็นอัพไซด์
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การบินไทยก็จะยังมีผลขาดทุน แต่ปีหน้ามีโอกาสกลับมามีกำไร โดยผลประกอบการการบินไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี THAI กล่าวว่า การได้รับสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างทุนใหม่ที่จะให้ผู้ให้สินเชื่อใหม่ มีความมั่นใจ และบริษัทเดินหน้าต่อได้ ประกอบกับบริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น ก็ทำให้ขาดทุนสะสมของบริษัทลดลง
นอกจากนี้กลุ่มเจ้าหนี้สหกรณ์ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่อง ซึ่งกำลังพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหกับการบินไทย ส่วนเจ้าหนี้รายอื่น ไม่ได้ปรับแก้เงื่อนไขการให้กู้