อาลัย “พิชัย รัตตกุล” อดีตประธานรัฐสภา-หัวหน้าพรรคปชป. ถึงแก่อนิจกรรมวัย 96 ปี

สิ้น "พิชัย รัตตกุล" อดีตประธานรัฐสภา-หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งปอดในวัย 96 ปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2565) แวดวงการเมืองต้องสูญเสียบุคคลสำคัญ นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งปอดอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช ในวัย 96 ปี

สำหรับประวัติ นายพิชัย รัตตกุล เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2469 ในครอบครัวไทยเชื้อสายจีนเป็นบุตรคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 9 คน จบมัธยมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ต่อมาได้ศึกษาต่อด้านพาณิชยศาสตร์ ที่โรงเรียนเซนต์สตีเฟ่น ฮ่องกง จากนั้นได้กลับมาดูแลธุรกิจของครอบครัวก่อนจะเข้าสู่เส้นทางการเมือง

โดยนายพิชัยเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2501 โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และเป็น ส.ส.ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาไม่นาน นายพิชัยเป็น 1 ใน 100 คนที่ลงชื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร

ทั้งนี้เป็น 1 ใน 4 ของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ลงชื่อในครั้งนั้น (นายดำรง ลัทธพิพัฒน์, นายเทพ โชตินุชิต, นายชวลิต อภัยวงศ์) ในปี 2516 นายพิชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยนายพิชัย ได้รับการแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช แต่ยังมิได้เริ่มปฏิบัติงานเนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาในการแถลงนโยบาย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งอีกครั้ง กระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งอีกสมัยหนึ่งแต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการรัฐประหารของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่

กระทั่งในปี 2525 นายพิชัย ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากครบวาระของ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเวลานั้นได้ร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลให้การสนับสนุนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งนายพิชัยได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย

จากนั้นในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายพิชัยและพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในวาระแรก และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีแต่ในวาระที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายพิชัยและพรรคประชาธิปัตย์ได้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลเนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดสภาพการเป็นเผด็จการรัฐสภาเพราะเวลานั้นรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในสภาเป็นจำนวนมากแล้ว

ช่วงที่เป็นหัวหน้าพรรคมีเหตุการณ์ความแตกแยกภายในพรรคเกิดขึ้น เมื่อ “กลุ่ม 10 มกรา” ซึ่งนำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ ได้ลาออกจากพรรคไป เนื่องจากความขัดแย้งกันในแต่งตั้งหัวหน้าพรรค

ต่อมาเมื่อนายชวน หลีกภัย ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 นายพิชัยได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจการเกี่ยวกับต่างประเทศและรับผิดชอบการจัดมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 1998 และได้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วย หลังจากนี้ไม่นานนายพิชัยได้ประกาศวางมือจากการเมืองเนื่องจากอายุมากแล้วแต่ยังมีตำแหน่งเป็นสภาที่ปรึกษาของพรรคประชาธิปัตย์อยู่

ส่วนในแวดวงสังคม นายพิชัย มีตำแหน่งเป็นประธานสโมสรโรตารีในประเทศ และเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานสโมสรโรตารีสากลในระหว่างปี พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2546

Back to top button