สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 มี.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 มี.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 600 จุดในวันพุธ (2 มี.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่นักลงทุนวิตกกังวล นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,891.35 จุด เพิ่มขึ้น 596.40 จุด หรือ +1.79%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,386.54 จุด เพิ่มขึ้น 80.28 จุด หรือ +1.86% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,752.02 จุด เพิ่มขึ้น 219.56 จุด หรือ +1.62%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพุธ (2 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซที่พุ่งขึ้นกว่า 4% ตามราคาน้ำมันดิบ ขณะที่นักลงทุนจับตาวิกฤตการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงดำเนินต่อไป
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 446.33 จุด เพิ่มขึ้น 3.96 จุด หรือ +0.90%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,498.02 จุด เพิ่มขึ้น 101.53 จุด หรือ +1.59%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,000.11 จุด เพิ่มขึ้น 95.26 จุด หรือ +0.69% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,429.56 จุด เพิ่มขึ้น 99.36 จุด หรือ +1.36%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพุธ (2 มี.ค.) โดยหุ้นกลุ่มน้ำมันและกลุ่มเหมืองแร่อุตสาหกรรมได้แรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นหลังวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนรุนแรงขึ้น
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,429.56 จุด เพิ่มขึ้น 99.36 จุด หรือ +1.36%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทะลุระดับ 110 ดอลลาร์ในวันพุธ (2 มี.ค.) โดยสัญญาน้ำมันดิบทะยานขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ท่ามกลางความกังวลที่ว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะได้รับผลกระทบจากการที่นานาประเทศคว่ำบาตรรัสเซีย และบริษัทพลังงานหลายแห่งพากันระงับการลงทุนในรัสเซียเพื่อตอบโต้การใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 7.19 ดอลลาร์ หรือ 7% ปิดที่ 110.60 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2554
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. พุ่งขึ้น 7.96 ดอลลาร์ หรือ 7.6% ปิดที่ 112.93 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2557
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (2 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังเป็นปัจจัยฉุดตลาด
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 21.5 ดอลลาร์ หรือ 1.11% ปิดที่ 1,922.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 35.1 เซนต์ หรือ 1.37% ปิดที่ 25.19 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 16.1 ดอลลาร์ หรือ 1.53% ปิดที่ 1,068 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 127 ดอลลาร์ หรือ 5% ปิดที่ 2,664.90 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (2 มี.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ซบเซา ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาสถานการณ์ยูเครน รวมทั้งตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.02% แตะที่ 97.3850
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2651 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2739 ดอลลาร์แคนาดา อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 115.55 เยน จากระดับ 114.87 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9204 ฟรังก์ จากระดับ 0.9189 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1123 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1131 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3372 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3314 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7298 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7251 ดอลลาร์สหรัฐ