หึ่ง! VGI ส่อเทนเดอร์ฯ NINE ราคาสูงลิ่ว เอื้อ “กองทุนสีลมโรด” ดูดกำไรหลักพันล้าน
“กายกรรม (การเงิน) ฮ่องกง” แผลงฤทธิ์! “เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์” ออกหุ้น PP ให้บริษัทลูกวีจีไอกว่า 70% แลกธุรกิจบริหารพื้นที่บนบีทีเอส ก่อนเปิดทางทำเทนเดอร์ฯ ขั้นต่ำ 3.30 บาท Q3 นี้ จับตา “Silom Road-วิโรจน์” ถือหุ้นใหญ่ NINE ต้นทุน 1.40 บาท จ่อฟันกำไรพันล้านบาท ฟากวาณิชธนกิจตั้งคำถาม “กองทุนสีลมเป็นของใคร?” หากเกี่ยวข้อง VGI เข้าข่ายควบคุมหรือสั่งการให้บริษัท (มหาชน) ซื้อหุ้นตัวเองราคาสูงลิ่ว ส่งผลผู้ถือหุ้นอื่นเสียหาย หลังใส่เงินเพิ่มทุนกว่าหมื่นล้านบาทก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 มี.ค.65 รายงานถึงกรณี บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NINE แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้นสามัญบริษัท กรุ๊ปเวิร์ค จำกัด (GW) เป็นจำนวน 62,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นสัดส่วน 100% ของหุ้นทั้งหมดใน GW จากผู้ถือหุ้นเดิม 3 ราย ได้แก่ (1) VGI (2) บริษัท เวิร์ค เอ็กซ์ จำกัด (3) Sliver Reward Holdings Limited ราคาซื้อขายไม่เกิน 110 ล้านบาท
สำหรับ GW ประกอบธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วน บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสจำนวน 5 สถานี และบริหารพื้นที่ขายสินค้าบริเวณท่าเทียบเรือ 3 แห่ง ที่มุ่งเน้นการใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อนำเสนอแบรนด์ของร้านค้าต่อผู้บริโภค และเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการสัญจรผ่านสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและท่าเรือ อันมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
โดย NINE จะเข้าทำสัญญาให้สิทธิบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (License to Manage and Operate Merchandising Space Agreement) จำนวนไม่เกิน 31 สถานี (รวมถึงพื้นที่บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ GW ได้รับสิทธิและที่บริษัทได้รับสิทธิบริหารจัดการอยู่ในปัจจุบัน) กับ VGI ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานการบริหารจัดการพื้นที่บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสดังกล่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC สัญญาดังกล่าวมีระยะเวลาประมาณ 7.5 ปี (สิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค. 2572) และคู่สัญญาอาจต่อสัญญาได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยคาดว่ามีมูลค่ารวมของสัญญาประ มาณ 2,665.93 ล้านบาท
พร้อมกันนี้คณะกรรมการมีมติเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 984 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท) เพื่อเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ให้แก่บริษัท พอยท์ ออฟ วิว (พีโอวี) มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (POV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI จำนวน 953.50 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 70.65% และบริษัท เวิร์ค เอ็กซ์ จำกัด จำนวน 15.35 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.14% และ Sliver Reward Holdings Limited จำนวน 15.15 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.12% ราคาเสนอขายหุ้นละ 3.30 บาท รวมมูลค่า 3,247.20 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังอนุมัติให้ออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) อัตราส่วน 1.5232 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ราคาเสนอขายหุ้นละ 3.30 บาท รวมมูลค่า 792 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทจะลดทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท จากเดิม 390.55 ล้านบาท เป็น 365.55 ล้านบาท ด้วยการตัดหุ้นสามัญที่ยังไม่ได้ออกจำหน่าย 25 ล้านหุ้น จากนั้นจะเพิ่มทุนจดทะเบียน 1,224 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 1,589.55 ล้านบาท
สำหรับธุรกรรมการเข้าซื้อหุ้น GW และธุรกรรมการเข้าทําสัญญาให้สิทธิฯ ดังกล่าว จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 โดยมีกำหนดประชุมวันที่ 10 พ.ค. 2565 และคาดว่าธุรกรรมดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน มิ.ย. 2565
อย่างไรก็ดีหลังธุรกรรมขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP เสร็จสิ้น ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้น NINE เกิน 50% ทำให้ POV (บริษัทย่อยของ VGI ) ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น NINE ทั้งหมด โดยคาดว่า จะเริ่มทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ของ NINE ภายในไตรมาส 3/2565 และราคาเทนเดอร์จะต้องไม่ต่ำกว่าราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (ไม่ต่ำกว่า 3.30 บาท) ดังกล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากวงการวาณิชธนกิจ เปิดเผยกับทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ถึงกรณีที่บริษัทย่อยของ VGI จะต้องประกาศทำคำเสนอซื้อ หรือ “เทนเดอร์ ออฟเฟอร์” หุ้น NINE หลังกระบวนการเพิ่มทุนแล้วเสร็จว่า กองทุนส่วนบุคคล ภายใต้ชื่อ “สีลม โรด ลิมิเต็ด” ซึ่งมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่านายคีรี กาญจนพาสน์ และหรือนายกวิน กาญจนพาสน์ เป็นผู้ได้รับประโยชน์ในกองทุนดังกล่าว จะเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด จากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 175,950,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 48.13% ของหุ้นทั้งหมดก่อนเพิ่มทุน
ทั้งนี้กองทุนสีลมฯ เข้าถือหุ้น NINE จำนวนดังกล่าว ผ่านการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง ตามมติบอร์ดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ด้วยต้นทุน 1.40 บาทต่อหุ้น หากขายทั้งจำนวนตามราคา “เทนเดอร์” (ขั้นต่ำ) ที่จะประกาศออกมาในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จะส่งผลให้มีกำไรราว 334 ล้านบาท หรือคิดเป็น “แคปปิตอลเกน” สูงถึงประมาณ 136% จากการลงทุนในหุ้น NINE เป็นเวลา 4 ปี
อย่างไรก็ดี ราคาเทนเดอร์มีโอกาสขยับขึ้นสูงกว่า 3.30 บาท เนื่องจากราคาหุ้น NINE ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.70 บาท โดยปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงถึงเกือบ 50% ภายในช่วง 2 วันทำการ หลังประกาศดีลดังกล่าว ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะทั่วไปแล้ว เมื่อมีการเพิ่มทุนที่ราคาต่ำกว่ากระดาน และโดยเฉพาะต้องมีการเทนเดอร์ฯ ต่อไป ราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากว่ามีนักลงทุนหรือผู้ใดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ทราบข้อมูลว่าจะมีการเทนเดอร์ฯ ในราคาที่สูงกว่า จึงยังไม่มีการขายหุ้นออกมา แต่จะรอขายในอนาคตเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น ซึ่งยากต่อการคาดการณ์ว่าจะสรุปราคาเทนเดอร์ฯ ที่เท่าไหร่ เพราะต้องรอดูราคาหุ้นบนกระดานในช่วงไตรมาส 3 นี้ก่อน
“ดีลนี้น่าสนใจ และคงต้องตรวจสอบดูว่า ไพรเวทอิควิตี้ที่ชื่อสีลมฯ เป็นของใคร เพราะถ้ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ VGI เป็นผู้รับประโยชน์ เท่ากับว่าการที่ผู้ถือหุ้น VGI ใส่เงินเพิ่มทุนไปเมื่อเดือนมกราคม กลายเป็นให้บริษัทเอามาซื้อสมบัติส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง ที่อาจไม่ก่อประโยชน์กลับไปให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ และที่สำคัญอาจเป็นการซื้อในราคาที่สูงมากด้วย” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้น่าตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น NINE ที่ปรากฏชื่อ “วิโรจน์ ตั้งเจตนาพร” ว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกับ “สีลม โรดฯ” ด้วยหรือไม่ เนื่องจากเพิ่มทุนเข้ามาใน NINE พร้อมกัน และที่ต้นทุนเดียวกัน รวมถึงบัญชี NVDR ที่ส่วนใหญ่ถือหุ้นโดยผู้รับฝากทรัพย์สิน (คัสโตเดี้ยน) จดทะเบียนในฮ่องกง และบุคคลสัญชาติฮ่องกง ซึ่งรวมกันถือหุ้น NINE กว่า 75%
แบ่งเป็น “สีลม โรดฯ” 175,950,000 หุ้น (48.13%), “ไทยเอ็นวีดีอาร์” 79,533,625 หุ้น (21.76%), และ “วิโรจน์ ตั้งเจตนาพร” 19,550,000 หุ้น (5.35%)
หากทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวโยงกัน และขายหุ้นออกมาตามเทนเดอร์ฯ นับแค่ส่วนของ “สีลมฯ-วิโรจน์” ก็จะทำให้มีกำไรประมาณ 370 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ราคาเทนเดอร์ฯ สูงกว่า 3.30 บาท เช่นหากว่าเท่ากับราคาปิดล่าสุดที่ 5.70 บาท จะส่งผลให้มีกำไรสูงถึงกว่า 840 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย โดยยังไม่รวมส่วนของ NVDR ที่เกี่ยวโยงกับเจ้าของกองทุนสีลมฯ
“ผู้ถือหุ้นของ NINE จะได้รับประโยชน์จากเกมหุ้นครั้งนี้ แตกต่างจากผู้ถือหุ้นรายย่อยของ VGI ที่จะเสียเงินเพิ่มทุนไปซื้อ NINE โดยไม่มีความจำเป็น เพราะธุรกิจที่ได้กลับมาก็เป็นธุรกิจเดิมของบริษัทอยู่แล้ว แต่อาจจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายของ VGI ได้ประโยชน์ หากว่าสวมหมวกเป็นผู้ถือหุ้นของ NINE ด้วย” แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย