“ดาวโจนส์” ปิดดิ่ง 800 จุด หวั่นเงินเฟ้อหนัก หลังน้ำมันพุ่งทะลุ 119 เหรียญ
“ดาวโจนส์” ปิดดิ่งอีกเกือบ 800 จุด มาที่ 32,817.38 จุด หวั่นเงินเฟ้อหนัก หลังน้ำมันพุ่งแรงแตะ 119.40 ดอลลาร์/บาร์เรล จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ปิดทรุดตัวลงเกือบ 800 จุดในวันจันทร์ (7 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น จะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,817.38 จุด ร่วงลง 797.42 จุด หรือ -2.37%
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,201.09 จุด ลดลง 127.78 จุด หรือ -2.95%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,830.96 จุด ลดลง 482.48 จุด หรือ -3.62%
ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 3.72 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 119.40 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2551
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. พุ่งขึ้น 5.10 ดอลลาร์ หรือ 4.3% ปิดที่ 123.21 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2555
โดยราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง หลังจากนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ “State of the Union” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นในวันอาทิตย์ (6 มี.ค.) ว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรในยุโรปกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะระงับการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เพื่อตอบโต้รัสเซียที่ใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน
ด้าน โมนา มาฮาจาน นักวิเคราะห์จากบริษัทเอ็ดเวิร์ด โจนส์กล่าวว่า ตลาดวิตกกังวลว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และอาจจะนำไปสู่ภาวะ Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลว่าปัญหาราคาน้ำมันแพงจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์เข้าสู่ภาวะปรับฐาน (Correction) แล้ว เนื่องจากดัชนีได้ร่วงลงกว่า 10% จากระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 ส่วนดัชนี Nasdaq ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market ) เนื่องจากดัชนีทรุดตัวลงกว่า 20% จากระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564
หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลง 4.8% ทั้งนี้ หุ้นราล์ฟ ลอเรน ดิ่งลง 12.23% หุ้นไนกี้ ร่วงลง 5.14% หุ้นคาปรี โฮลดิ้งส์ ทรุดตัวลง 15.36% หุ้นบาธ แอนด์ บอดี้ เวิร์คส์ ร่วงลง 8.67%
ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสารดิ่งลง 3.74% นำโดยหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส ดิ่งลง 6.29% หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 4.19% ห้นแอปเปิล ร่วงลง 2.37% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 3.78% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ลดลง 3.17% หุ้นทวิตเตอร์ ร่วงลง 2.89%
หุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มเรือสำราญร่วงลงเนื่องจากความกังวลที่ว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้ โดยหุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ ดิ่งลง 12.72% หุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ ร่วงลง 11.99% หุ้นยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ทรุดลง 15.01% หุ้นคาร์นิวัล คอร์ป ร่วงลง 9.87% หุ้นรอยัล คาริบเบียน ครูส ร่วงลง 9.03% หุ้นนอร์วีเจียน ครูส ไลน์ ร่วงลง 11.56%
อย่างไรก็ดี การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันช่วยหุ้นดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น 1.57% โดยหุ้นเชฟรอน พุ่งขึ้น 2.14% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน พุ่งขึ้น 6.15% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ บวก 0.97% หุ้นเอ็กซอน โมบิล พุ่งขึ้น 3.6%
ด้าน คาร์สเตน ฟริทช์ นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากคอมเมิร์ซแบงก์ รีเสิร์ชกล่าวว่า ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงหลังมีรายงานว่าชาติตะวันตกกำลังพิจารณาการแบนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย โดยรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งหากนานาประเทศตัดสินใจแบนน้ำมันจากรัสเซีย ก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะอุปทานน้ำมันในตลาดโลกและทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอีก
นอกจากนี้นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ยูเครนอย่างใกล้ชิด โดยสำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์รายงานล่าสุดว่า การเจรจาสันติภาพรอบที่ 3 ระหว่างคณะตัวแทนของรัสเซียและยูเครนได้เริ่มขึ้นแล้วที่เบลารุส เพื่อหาทางออกต่อวิกฤตการณ์ในยูเครน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดุลการค้าเดือนม.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน