คัด 6 หุ้นเหล็กงบปี 64 พลิกกำไร GJS เด่นสุด-ราคาต่ำบุ๊ค!

คัด 6 หุ้นเหล็กงบปี 64 พลิกกำไร รับผลดีราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงขึ้น หนุนรายได้เพิ่มขึ้น GJS เด่นสุดฟาดกำไรกว่า 3 พันลบ.-ราคาต่ำบุ๊ค! ลุ้นปี 65 ผลงานโตต่อเนือง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก หลังจากประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2564 สิ้นสุด 31 ธ.ค.2564 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยพบว่า บริษัทส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นมาจากราคาเหล็กโลกมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้จากการขายเติบโตขึ้นตามไปด้วย ดังนี้ TWP, SAM, TGPRO, GJS, MILL และ TYCN

ทั้งนี้ ราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวยังได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตอบรับประเด็นดังกล่าวอีก ขณะที่ปัจจุบันราคาเหล็กยังได้ปัจจัยบวกจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงาน โลหะ สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นก่อนหน้านี้ นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กโลกช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ได้ลดความร้อนแรงลง เนื่องจากโรงงานเหล็กส่วนใหญ่ทั่วโลกกลับมาผลิตเหล็กในปริมาณเกือบเป็นปกติแล้ว โดยล่าสุดข้อมูลต้นเดือน ม.ค. 65 ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบนและในประเทศจีนปรับตัวลดลงเหลือ 756 – 762 เหรียญ/ตัน ลดลง 18%–24% จากช่วงที่ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อกลางปี 2564

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ยากที่ราคาเหล็กจะลงไปต่อเนื่องจนเทียบเท่าระดับราคาในปี 2563 โดยเชื่อว่าราคาเหล็กในจีนและภูมิภาคเอเชีย จะขยับลงอีกไม่มาก หรือทรงตัว แล้วจะปรับขึ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ เนื่องจากประเทศจีนปรับนโยบายเรื่องยกเลิกการให้ภาษีส่งออก (Rebate VAT) สินค้าเหล็ก รวมถึงมีการดำเนินการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังส่งผลให้มีต้นทุนในกระบวนการผลิตเพิ่ม รวมถึงสถานการณ์ของต้นทุนพลังงาน และวัตถุดิบต่างๆ เช่น ถ่านหิน ก็มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้จากการที่ประเทศไทยเผชิญภาวะโควิดมา 2 ปีแล้ว ได้ส่งผลให้ทั้งภาคสังคมและภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวกันตามวิถีใหม่ (New Normal) เช่น การขาดแคลนแรงงาน การบริหารจัดการก่อสร้างที่ต้องลดความแออัดของการใช้แรงงาน และระยะเวลาในการก่อสร้าง ตลอดจนการตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy ดังนั้น เหล็กจึงเป็นวัสดุก่อสร้างและทางเลือกที่เหมาะสมยิ่งขึ้นสำหรับภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทย

โดยในปี 2565 ความต้องการใช้เหล็กของประเทศน่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 5% จากปี 2564 เนื่องจากการก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐาน (Infra Structure) ของภาครัฐที่ยังดำเนินการต่อเนื่อง การเริ่มฟื้นตัวของภาคส่งออก ภาคบริการ โดยเหล็กเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ การก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ พลังงาน บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น จึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ และการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า รวมถึงการควบคุม Supply การผลิตเหล็กในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการของประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยเร่งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เร็วขึ้นได้

Back to top button