“ทองฟิวเจอร์” หลุด 2,000 เหรียญ หลังเจรจาคืบหน้า สงครามจ่อยุติ
ราคาทองฟิวเจอร์ปรับลดลงกว่า 50 เหรียญ หลุดระดับ 2,000 เหรียญ คาดการณ์สงครามใกล้ยุติ หลังจากทางการรัสเซียเผยเจรจากับยูเครนประสบความคืบหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งลงกว่า 50 ดอลลาร์ หลุดระดับ 2,000 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยนักลงทุนแห่เทขายทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังมีความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะปูทางให้สงครามในยูเครนยุติลง
โดย ณ เวลา 21.17 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 51.20 ดอลลาร์ หรือ 2.5% สู่ระดับ 1,992.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้นักลงทุนคาดหวังว่าสงครามในยูเครนใกล้ยุติลง หลังจากมีข่าวว่ายูเครนได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ขณะที่รัสเซียเปิดเผยว่าการเจรจากับยูเครนมีความคืบหน้า
ด้านทางการรัสเซียแถลงในวันนี้ว่า การเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนเพื่อแก้ไขความขัดแย้งกำลังมีความคืบหน้า และรัสเซียไม่มีความประสงค์ที่จะโค่นล้มรัฐบาลยูเครน
สำหรับ “การเจรจาประสบความคืบหน้า” นางมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าว โดยระบุถึงการเจรจาสันติภาพ 3 รอบระหว่างคณะผู้แทนของรัสเซียและยูเครน
โดยนางซาคาโรวากล่าวว่า รัสเซียไม่มีความประสงค์ที่จะยึดครองยูเครน หรือโค่นล้มรัฐบาลยูเครน
“เป้าหมายของกองทัพไม่ได้ต้องการยึดครองยูเครน หรือทำลายความเป็นรัฐของยูเครน หรือคว่ำรัฐบาลยูเครน และไม่มีเป้าหมายโจมตีพลเรือน” นางซาคาโรวากล่าว
ส่วนนายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า รัสเซียต้องการที่จะเจรจาสันติภาพรอบใหม่กับยูเครน ทันทีที่คณะผู้แทนของยูเครนมีความพร้อม
นอกจากนี้ นายเพสคอฟยังกล่าวว่า การเจรจาระหว่างนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซีย และนายดมิโทร คูเลบา รมว.ต่างประเทศยูเครน ในวันพรุ่งนี้ที่ตุรกี ถือว่ามีความสำคัญในกระบวนการหารือเพื่อหาทางออกต่อวิกฤตการณ์ในยูเครน
โดยราคาทองยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ด้านนักลงทุนจับตาตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15-16 มี.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ในปีนี้
ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนนี้ ซึ่งไม่รุนแรงเหมือนกับที่นักวิเคราะห์บางรายคาดว่าจะปรับขึ้น 0.50%