“บจ.ไทย” เริ่มฟื้น! กวาดกำไรปี 64 โตแกร่ง 80% เฉียด 1 ล้านลบ.

บจ.ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รายงานผลการดำเนินงานปี 2564 มียอดขายเติบโตสูง โกยกำไร 9.86 แสนล้านบาท เติบโต 79.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 757 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) คิดเป็น 97.1% จากทั้งหมด 780 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บจ. ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC) นำส่งผลการดำเนินงานงวดปี 2564 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 592 บริษัท คิดเป็น 78.1% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ทั้งนี้ สรุปผลการดำเนินงานของ บจ. ใน SET งวดปี 2564 เทียบกับปี 2563 มียอดขายรวม 13,131,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.1% กำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) 1,557,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.3% กำไรสุทธิ 985,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ บจ. มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานและอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 11.9% และ 7.5% ตามลำดับ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นเดือนปี 2564 บจ. มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ระดับที่ 1.54 เท่า คงที่เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2563

โดยหากพิจารณาเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า บจ. มีผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยมียอดขาย กำไรจากการดำเนินงานหลัก และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีอัตรากำไรกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562

“ในปี 2564 มี 3 ปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการเติบโต ได้แก่ การปรับตัวของราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น การปรับรูปแบบธุรกิจไปสู่วิถีแบบใหม่ (New Normal) ให้รับมือสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และการผ่อนคลายมาตรการโควิดของไทย ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนให้ บจ. มีกำไรจากการดำเนินงานหลักดีขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น พลังงาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เหล็ก ขนส่ง (ทางเรือ) ธุรกิจการแพทย์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง และธุรกิจภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการฟื้นตัวอย่างมาก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุอุตสาหกรรม และชิ้นส่วนยานยนต์” นายแมนพงศ์ กล่าว

ด้าน นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 176 บริษัท คิดเป็น 96% จากทั้งหมด 184 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวด) นำส่งผลการดำเนินงานปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่า บจ. ที่รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 128 บริษัท คิดเป็น 73% ของบริษัทที่นำส่งผลการดำเนินงานทั้งหมด

ผลประกอบการ บจ. mai ปี 2564 เทียบกับปี 2563 มียอดขายรวม 171,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% ต้นทุนขาย 132,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 22.8% กำไรจากการดำเนินงาน (operating profit) 10,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.9% ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% ขณะที่กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 8,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 273.6% ซึ่งหากพิจารณากำไรโดยไม่รวมรายการพิเศษ กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 3,498 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 29.8% และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.0%

“ในปี 2564 บจ. ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมจากภาครัฐที่มีการผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2563 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับหลาย บจ. สามารถบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้ บจ. ใน mai มียอดขายและกำไรสุทธิเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำไรสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ กลุ่มบริการ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ตามลำดับ” นายประพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของฐานะทางการเงิน บจ. mai มีสินทรัพย์รวม 282,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% จากสิ้นปี 2563 และโครงสร้างเงินทุนรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) อยู่ที่ 1.02 เท่า ลดลงจากสิ้นปี 2563 ที่เท่ากับ 1.10 เท่า

โดยปัจจุบันมี บจ. ใน mai 184 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565) ดัชนี mai ปิดที่ระดับ 612.37 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 500,508 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 7,059 ล้านบาทต่อวัน

Back to top button