สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 15 มี.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 15 มี.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 600 จุดในวันอังคาร (15 มี.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ หลังราคาน้ำมันร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาด ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,544.34 จุด เพิ่มขึ้น 599.10 จุด หรือ +1.82%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,262.45 จุด เพิ่มขึ้น 89.34 จุด หรือ +2.14% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,948.62 จุด เพิ่มขึ้น 367.40 จุด หรือ +2.92%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันอังคาร (15 มี.ค.) โดยหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์นำตลาดร่วงลงท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นในจีน นอกจากนี้ นักลงทุนยังชะลอการเข้าซื้อหุ้นก่อนเสร็จสิ้นการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมา

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 435.12 จุด ลดลง 1.23 จุด หรือ -0.28%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,355.00 จุด ลดลง 14.94 จุด หรือ -0.23%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,917.27 จุด ลดลง  11.84 จุด หรือ -0.09% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,175.70 จุด ลดลง 17.77 จุด หรือ -0.25%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันจันทร์ (15 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มเหมืองแร่ นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งจะสนับสนุนให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,175.70 จุด ลดลง 17.77 จุด หรือ -0.25%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 6% ในวันอังคาร (15 มี.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการที่จีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ การที่นักลงทุนคาดหวังความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงด้วย

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 6.57 ดอลลาร์ หรือ 6.4% ปิดที่ 96.44 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 6.99 ดอลลาร์ หรือ 6.5% ปิดที่ 99.91 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันอังคาร (15 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความคาดหวังที่ว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีความคืบหน้า ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 31.1 ดอลลาร์ หรือ 1.59% ปิดที่ 1,929.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 14 เซนต์ หรือ 0.55% ปิดที่ 25.158 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 49.8 ดอลลาร์ หรือ 4.73% ปิดที่ 1,002.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 5.6 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 2,412 ดอลลาร์/ออนซ์

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (15 มี.ค.) หลังจากดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีทรุดตัวลงอย่างหนักในเดือนมี.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.10% แตะที่ 99.0960 เมื่อคืนนี้

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0943 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0963 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3034 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3019 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7190 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ  0.7195 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 118.32 เยน จากระดับ 118.09 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9420 ฟรังก์ จากระดับ 0.9377 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2781 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2824 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button