“กนอ.” เคาะตั้ง “นิคมฯ หนองละลอก” รองรับ EEC คาดเม็ดเงินสะพัดกว่า 4.5 หมื่นลบ.
“กนอ.” อนุมัติจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรม หนองละลอก” ขนาดพื้นที่ 1,546 ไร่ คาดเปิดบริการภายใน 2 ปี รองรับการลงทุน EEC คาดขาย/ให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ในระยะเวลา 5 ปี ประเมินเม็ดเงินสะพัดกว่า 4.5 หมื่นลบ.
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.ได้อนุติในหลักการให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 1 แห่ง โดยร่วมดำเนินงานกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน จำกัด ในรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี การขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve และอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงตอบสนองนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศเชิงพื้นที่ (Area based) โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภคภายใต้การกำกับของ กนอ.
โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง พื้นที่ประมาณ 1,546 ไร่ โดยที่ตั้งของโครงการฯ ถือว่ามีความได้เปรียบจากการเป็นพื้นที่ดอน ไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ด้านหน้าโครงการติดถนนทางหลวงแผ่นดิน และห่างจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางชลบุรี-พัทยา ประมาณ 14 กิโลเมตร อยู่ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 24 กิโลเมตร ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ประมาณ 40 กิโลเมตร ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ประมาณ 60 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประมาณ 150 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้พื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง อาทิ เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ประมาณ 7 กิโลเมตร นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ประมาณ 8 กิโลเมตร และนิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป ประมาณ 1,123 ไร่ พื้นที่โรงไฟฟ้า ประมาณ 22 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 181 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน ประมาณ 218 ไร่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดและเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี โดยหลังเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 45,840 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 11,460 คน อย่างไรก็ตาม โครงการฯ อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของ EEC อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมของ EEC ด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถขาย/ให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ในระยะเวลา 5 ปี
“โครงการฯ ดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่อีอีซีของรัฐบาล ที่มีการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐานในระบบสาธารณูปโภค อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการชักจูงให้มาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve
โดย กนอ.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับนักลงทุน ซึ่งจากการพิจารณาข้อเสนอของการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าวนั้น กนอ.เห็นว่า นอกจากศักยภาพของโครงการฯ ทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง การเชื่อมโยงเครือข่ายด้านคมนาคมขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แล้ว บริษัทยังมีความพร้อม มีฐานลูกค้า และมีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจ คาดว่าจะทำให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จได้” นายวีริศ กล่าว
สำหรับการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าวนำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town)มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 มีการนำน้ำทิ้งไปผ่านการบำบัดและปรับปรุงคุณภาพเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่
นอกจากนี้ ยังใช้แนวคิดการออกแบบอาคารแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) รวมถึงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Green Building) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการ กนอ.ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) แต่มั่นใจว่าการบริหารจัดการสถานการณ์และศักยภาพของประเทศไทยที่มีอยู่จะสร้างความสนใจให้กับต่างประเทศได้ ซึ่งต้องอาศัยช่วงเวลานี้และปัจจัยเรื่องการย้ายฐานลงทุนและการผลิตของนักลงทุนต่างชาติจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเร่งดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศให้ได้
“ผมได้กำชับให้การนิคมฯ เร่งดึงดูดการลงทุน โดยการโชว์ศักยภาพและความพร้อมรองรับการลงทุน ขณะเดียวกันให้เตรียมความพร้อมนิคมอุตสาหกรรมทุกภูมิภาค เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม โดยต้องตอบโจทย์ทุกการแข่งขัน ทั้งศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานสากลแบบครบวงจร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก และการบริหารจัดการอย่างทั่วถึง ซึ่งการนิคมฯ เองก็มีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายและเช่าที่ดินออกมาอย่างต่อเนื่อง” นายสุริยะ กล่าว