กทม. เตรียมมาตรการรองรับโควิด “โรคประจำถิ่น” รูปแบบ “เจอ แจก จบ”
กทม. เตรียมรองรับโควิด เป็นโรคติดต่อทั่วไป ดำเนินการตั้งแต่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ในรูปแบบ “เจอ แจก จบ” โดยหากมีผู้ติดเชื้อ จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนรพ. ในส่วนของผู้ที่มีอาการรุนแรง กทม. จะประสานส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ.สนาม หรือ รพ.หลักตามระดับความรุนแรง
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ภายหลังการประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้เตรียมมาตรการรองรับการดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทั่วไป หรือโรคประจำถิ่น โดยตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แบบ “เจอ แจก จบ”
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้รับการยืนยันผลติดเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) และได้รับการประเมินแล้ว พบว่าไม่มีอาการ หรือความเสี่ยงจากปัจจัยต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (รพ.) และเมื่อขอเข้ารับการรักษาในระบบแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร และยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ตามอาการของผู้ติดเชื้อ
นอกจากนี้ จะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์สอบถาม และติดตามอาการผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าถึงบริการและเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่สามารถดูแลได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี หลังการเพิ่มบริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยนอกแบบ “เจอ แจก จบ” ของสำนักการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1-16 มี.ค. 65 มีผู้เข้ารับบริการแล้วทั้งหมด จำนวน 10,100 ราย
ขณะเดียวกัน ได้สร้างความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ามารับบริการในระบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของ รพ.สังกัด กทม. ตามแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของ สธ. แบบ “เจอ แจก จบ” โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษา และการจ่ายยาตามระดับอาการ วิธีปฏิบัติตนในการดูแลตนเอง รวมทั้งระบบการติดตามอาการ และส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ. หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น
ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ศูนย์เอราวัณ กทม. จะประสานและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ.สนาม หรือ รพ.หลักตามระดับความรุนแรง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรือมีปอดอักเสบ จะให้บริการแบบกลุ่มผู้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่น นอกจากนั้น ยังได้วางแผนการปรับให้ รพ. มี Long COVID clinic/unit เพื่อติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหายแล้วอีกด้วย