“ส.อ.ท.” ห่วง SMEs ล้มจากวิกฤติ “รัสเซีย- ยูเครน” ดันต้นทุนพุ่ง

ส.อ.ท. เตือนรัฐบาลเตรียมรับมือต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น หลังสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ จนอาจทำให้กลุ่ม SMEs อาจต้องปิดกิจการ เพราะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.และในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เปิดเผยว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันราคาสูงขึ้น และมาตรการคว่ำบาตรต่างๆที่ออกมาจากนานาประเทศ เป็นปัจจัยท้าทายต่อภาวะต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs จะยิ่งเปราะบางเพิ่มไปอีก จากเดิมที่มองว่าจะทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้นในปีนี้หลังจากต้องเผชิญผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาแล้วถึง 2 ปีเต็ม

โดยปัจจุบันต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มปรับขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมัน ค่าขนส่งต่างๆ รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วยที่จะเริ่มในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ขณะเดียวกันก็มีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่จะทยอยขึ้น 3 เดือนเดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม เริ่ม 1 เมษายนนี้ ซึ่งมี SMEs บางส่วนใช้ในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้รัสเซียมีการประกาศมาตรการการระงับการส่งออกสินค้า 200 รายการ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯและชาติพันธมิตรตะวันตก ทำให้กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตที่หลายสินค้าจะขาดแคลนและมีราคาสูง ทั้งเหล็ก ชิ้นส่วนรถยนต์ ปุ๋ย ฯลฯ แม้จะจัดหาที่อื่นทดแทนได้แต่ภาพรวมราคาได้ปรับสูงขึ้นมาก

ด้านต้นทุนการผลิตภาพรวมมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ยิ่งทำให้ SMEs ไทยที่ยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 ยิ่งอาจกลับมาทรุดหนักอีก ซึ่งนอกจากต้นทุนจะเพิ่มขึ้นมากแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวก็ยังต้องลำบาก เพราะนักท่องเที่ยวรัสเซียถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนโควิดคิดเป็นอันดับ 7 ของไทยประมาณ 1.5 ล้านคนที่เข้ามา และมีกำลังซื้อสูงก็จะหายไป

นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามต้นทุนทางการเงินในระยะต่อไป หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง ๆ ละ 0.25% ในปีนี้ ซึ่งหมายความว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งหลังจากนี้ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% ในปลายปี 2565 ปัจจัยดังกล่าว แม้ว่าระยะสั้น 1-2 เดือนนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้  แต่เชื่อว่าในระยะต่อไปก็อาจจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้น ซึ่งยิ่งกดดันให้ต้นทุนการเงินของธุรกิจเพิ่มขึ้น รวมถึง SMEs ที่จะยิ่งเปราะบางหนักขึ้นอีกได้ในช่วงกลางปีหรือสิ้นปีหากรัฐบาลไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือเพิ่มเติม

ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตโดยรวมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส.อ.ท.ได้ขอให้สมาชิกพยายามตรึงราคาสินค้าให้ได้มากสุดเท่าที่จะทำได้  โดยยอมรับว่าสต็อกวัตถุดิบเดิมภาพรวมส่วนใหญ่กำลังหมดลง และวัตถุดิบใหม่กำลังเข้ามาเพิ่ม ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าที่เป็นสต็อกใหม่ทั้งหมดต้องขยับขึ้น แม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ เช่นกระป๋อง ก็มีแนวโน้มปรับราคาขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตามจึงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อของไทย ดังนั้นคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.จึงได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2565 เดิมจะโต 3.5-5% เหลือเป็น 2.5-5% ปรับอัตราเงินเฟ้อจาก 1.5-2.5% เป็น 2-3% ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องเร่งดูแลประชาชน และSMEs ที่เป็นกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเพื่อประคองเศรษฐกิจ

Back to top button