TOP เปิด 3 กลยุทธ์ “3Vs” ก้าวสู่ผู้นำธุรกิจพลังงานยั่งยืน

TOP เดินหน้าขับเคลื่อน 3 กลยุทธ์หลัก พร้อมเร่งขยายการลงทุนเสริมความแข็งแกร่งธุรกิจปิโตรเลียมสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานที่ยั่งยืน


นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ไทยออยล์ยังคงเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ Empowering Human Life through Sustainable Energy and Chemicals’ สอดคล้องแนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานที่กำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน Energy Transition เพื่อใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น บริษัทฯ จึงปรับกลยุทธ์องค์กรเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต โดยอาศัยรากฐานที่มั่นคงจากธุรกิจหลัก(Building on Our Strong Foundation) อย่างธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจอะโรเมติกส์ต่อยอดการเติบโตสู่ธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจโอเลฟิน ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Products: HVP) ธุรกิจไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน การขยายตลาดสู่ระดับภูมิภาค จนถึงการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็น New S-Curve เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานที่ยั่งยืน ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน (3Vs) ซึ่งประกอบด้วย

1) Value Maximization : Integrated Crude to Chemicals การบูรณาการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าจากธุรกิจโรงกลั่นสู่ธุรกิจปิโตรเคมี เช่น อะโรเมติกส์ โอเลฟิน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้กับผลิตภัณฑ์ และเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยออยล์

2) Value Enhancement : Integrated Value Chain Management การบูรณาการขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค เน้นตลาดที่มีความต้องการสูงเพื่อเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น

3) Value Diversification การกระจายการเติบโตสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงของผลกำไร เช่น ธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

​ทั้งนี้ บริษัทฯ ดำเนินการต่อยอดความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โดยได้เข้าร่วมลงทุนใน บริษัท PT Chandra Asri Petrochemical TBK (“CAP”) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นก้าวแรกในการรุกเข้าสู่ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟิน ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีของไทยออยล์ ครอบคลุมทั้งสายอะโรเมติกส์และสายโอเลฟิน สร้างโอกาสในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยบริษัทฯ เริ่มได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น 15% ของ CAP ตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายตลาดไปสู่ประเทศอินโดนีเซียที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในระดับสูง อีกทั้ง ได้สร้างความร่วมมือทางการค้าใหม่ๆ โดยไทยออยล์ได้ทำสัญญาเพื่อส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตปิโตรเคมีให้กับ CAP และได้ทำสัญญาเพื่อจำหน่ายพอลิเมอร์เรซิน (Polymer Resin) และผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวอื่นๆ ของ CAP อีกด้วย นับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมความพร้อมรองรับการขยายธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสเติบโตในอนาคต โดยมีแผนปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว ผ่านการเพิ่มทุนและปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนใน PT Chandra ASRI Petrochemical TBK (CAP) ในช่วงไตรมาส 3/2564 ที่ผ่านมา รวมถึงรองรับการลงทุนขยายธุรกิจในอนาคตของไทยออยล์ด้วย

​นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเห็นชอบการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2,751,200,000 บาท จากปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนจำนวน 20,400,278,730 บาท ซึ่งจะเพิ่มเป็น 23,151,478,730 บาท

โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 275,120,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 10 บาท ประกอบไปด้วย

1) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) จำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น ซึ่งรวมการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น สัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและเสนอขายในครั้งนี้ โดยจะไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้หรืออาจเป็นผลให้บริษัทฯ มีภาระหรือหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ และอาจพิจารณาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนบางส่วนให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย และ

2) บริษัทฯ อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) เพื่อรองรับกระบวนการจัดสรรหุ้นส่วนเกินกว่าจำนวนที่จัดจำหน่าย (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 35,885,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้ ในกรณีที่มีผู้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ เกินกว่าจำนวนที่เสนอขาย

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเห็นชอบการจำหน่ายหุ้นสามัญของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) จำนวนทั้งสิ้น 304,098,630 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GPSC เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 22,351 ล้านบาท ให้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) และ บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่ง ปตท. ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 100% โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2565 ของ TOP ในวันที่ 7 เมษายนนี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติต่อไป

​โดยไทยออยล์ยังคงมุ่งหน้าต่อยอดสู่ธุรกิจที่หลากหลายโดยอาศัยรากฐานที่มั่นคงจากธุรกิจหลัก(Building on Our Strong Foundation) พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตและเติบโตไปพร้อมกับคนไทย พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปีอย่างยั่งยืน

Back to top button