ครม. เคาะเวนคืนที่ดิน 5 จว. สร้างรถไฟไฮสปีด “ไทย-จีน”

ครม. ไฟเขียวเวนคืนที่ดิน 5 จว. ได้แก่ กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี และ นครราชสีมา รวมเนื้อประมาณ 667 ไร่ และอาคาร 1,130 หลัง เคลียร์ทางสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1


นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินจะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนให้ถูกต้องชัดเจน

โดยร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของ 5 จังหวัด รวมเนื้อประมาณ 667 ไร่ และอาคาร 1,130 หลัง เพื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ ขนาดทาง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร สถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่ จำนวน 4 สถานี และศูนย์ควบคุมการเดินรถและซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ 1 แห่ง รวมถึงก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอด และทางคนลอดใต้ทางรถไฟแทน ดังนี้

1.กรุงเทพฯ : พื้นที่บางส่วนในเขตจตุจักร, หลักสี่ และดอนเมือง

2.ปทุมธานี : พื้นที่บางส่วนใน อ.ลำลูกกา อ.ธัญบุรี อ.คลองหลวง อ.เมืองปทุมธานี และ อ.สามโคก

3.พระนครศรีอยุธยา : พื้นที่บางส่วนใน อ.บางปะอิน อ.พระนครศรีอยุธยา อ.อุทัย อ.ภาชี

4.สระบุรี : อ.หนองแซง อ.เส้าไห้ อ.เมืองสระบุรี อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก

5.นครราชสีมา : อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.เนินสูง อ.เมืองนครราชสีมา

สำหรับร่าง พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ 4 ปี และให้เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิเริ่มทำการสำรวจได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประเมินมูลค่าโครงการแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 179,412 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่ารื้อย้ายและเวนคืน สัญญางานโยธา

“เมื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาระบบรางของไทยให้มีความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ อันเป็นการเสริมศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดแผนการดำเนินโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569” นางสาวรัชดา กล่าว

Back to top button