ก.ล.ต.ลงดาบ “มาร์เก็ตติ้ง” 2 ราย กระทำมิชอบต่อทรัพย์สินลูกค้า

ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 ราย และจะไม่รับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 4 ปี 2 เดือน กรณีกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของลูกค้า


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับรายงานการตรวจสอบจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (LBDU) และตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า ในวันที่ 10 กันยายน 2563 นายกิตติพัฒน์ กิจเวชเจริญ ได้รับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนจากลูกค้า และให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองโดยไม่ได้นำไปชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนให้ลูกค้า แต่กลับทำรายการยกเลิกการซื้อหน่วยลงทุนโดยไม่ใช่ความประสงค์ของลูกค้า

ทั้งนี้ ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมของ นายกิตติพัฒน์ ข้างต้น เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในตลาดทุน ตามข้อ 31(1) ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงเห็นควรเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนและกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไปของ นายกิตติพัฒน์ นับตั้งแต่วันที่คำสั่งมีผล

อย่างไรก็ตาม ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 ของ นายกิตติพัฒน์ สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ก.ล.ต. จึงกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของ นายกิตติพัฒน์ เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไปเป็นเวลา 4 ปี 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2565

ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดระยะเวลาข้างต้น ก.ล.ต. ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงว่า ธนาคารได้ตรวจพบรายการที่ผิดปกติดังกล่าว และได้ติดตามสอบถามจน นายกิตติพัฒน์ ยอมรับและได้คืนเงินลูกค้าครบถ้วนแล้วในวันเดียวกัน จึงได้นำการคืนเงินให้ลูกค้า

รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหาย หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน มาประกอบการพิจารณาแล้วด้วย

ดังนั้น ก.ล.ต. ขอเตือนผู้ลงทุนโอนชำระเงินค่าซื้อหลักทรัพย์เข้าบัญชีของธนาคารหรือบริษัทผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เท่านั้น และตรวจสอบยอดเงินลงทุนในหน่วยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจ และหากมีข้อสงสัย ควรติดต่อศูนย์ดูแลลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

Back to top button