“Popcoin-JFIN” รอดเกณฑ์คุม “คริปโต” ชี้เหรียญ “ยูทิลิตี้” หมุนในระบบนิเวศฯ
ดีเดย์ ก.ต.ล. ใช้เกณฑ์คุมคริปโต ห้ามนำไปชำระสินค้าและบริการ 1 เม.ย.นี้ “Popcoin-JFIN” รอด! เหตุเป็นเหรียญ “ยูทิลิตี้” ใช้ในระบบนิเวศเฉพาะของตัวเอง ไม่ได้ใช้ซื้อสินค้าทั่วไป จึงไม่เข้าข่ายเกณฑ์กำกับ โบรกฯ แนะลุย JMART, SCB, KBANK หลังเกณฑ์ออกชัดเจนแล้ว
สืบเนื่องจากวานนี้ (23 มี.ค.2565) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์ควบคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ขณะที่ผู้ออกเหรียญ Popcoin และ JFin Coin ยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากใช้ในระบบนิเวศเฉพาะของตัวเอง หรือ ecosystem ไม่ได้ใช้ซื้อขายสินค้าทั่วไป
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อไม่ให้สนับสนุน หรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันและเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแล สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการอยู่ก่อนแล้ว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565
ทั้งนี้ ธปท. และ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
ดังนั้นคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-8 ก.พ. 2565) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สรุปสาระสำคัญดังนี้
(1) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการ หรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุน หรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น
(2) กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ และดำเนินการแก่ลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการตาม (1) และ (2) อยู่ก่อนแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงเหตุผลที่ Cryptocurrency ยังไม่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมการแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินและค่าธรรมเนียมการโอน, ใช้เวลาการโอน 0.4 วินาที-10 นาที, ใช้ได้ไม่ทั่วถึง ขึ้นกับการยอมรับของร้านค้า, การคงมูลค่ามีความผันผวนสูง, เสี่ยงต่อภัยไซเบอร์และการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล
ในขณะที่ระบบการชำระเงินของไทยในปัจจุบัน การชำระเงินผ่านพร้อมเพย์สำหรับประชาชน ไม่มีค่าธรรมเนียม, พร้อมเพย์ใช้เวลาการโอนน้อยกว่า 1 วินาที, ใช้ได้ทั่วประเทศ โดย QR Code รองรับทุกธนาคาร และมีมากกว่า 7 ล้านจุดทั่วประเทศ, มูลค่าไม่ผันผวน และมีความปลอดภัยสูงภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแล
ทั้งนี้ ธปท.ได้โพสต์คำกล่าวของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ที่ระบุว่า สิ่งที่เป็นแก่นของธนาคารกลาง และจะไม่เปลี่ยน คือ การมีภาครัฐเป็นผู้รักษามูลค่าของเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาระบบนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่า มั่นคงและตอบโจทย์ มีประสิทธิภาพสูง เทียบกับ Cryptocurrency ที่แม้เป็นนวัตกรรม แต่จัดเป็นกระแส ที่ไม่ตอบโจทย์การเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ
RS-JMART ไม่กระทบ
ด้าน นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อเหรียญ Popcoin เนื่องจากเป็น Utility Token (เหรียญที่ใช้เพื่อแลกกับบริการ หรือระบบใช้งานภายในระบบนิเวศของตัวเอง หรือ ecosystem เท่านั้น)
และยังเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงคอนเทนต์ด้านสื่อและบันเทิงต่าง ๆ ผ่านทาง Popcoin Application สมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์ม ทั้งในส่วนของผู้บริโภค แบรนด์ และผู้ผลิตคอนเทนต์ อีกทั้งโทเคนดิจิทัลประเภท Utility Token เป็นโทเคนที่ทาง ก.ล.ต.ให้การสนับสนุน
“เหรียญ Popcoin ใช้เฉพาะในระบบนิเวศของตัวเอง ไม่ได้ใช้ซื้อขายสินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นระบบที่ ก.ล.ต.สนับสนุน” นายสุรชัย กล่าว
โดยปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การประกอบธุรกิจมีหลากหลายประเภท แต่ ก.ล.ต.ให้การสนับสนุน 2 ประเภท คือ 1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ
- โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น Utility Token พร้อมใช้ ผู้ถือเหรียญสามารถใช้สิทธิแลกสินค้า หรือใช้บริการได้ทันที ตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก
ส่วนนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด (JVC) กล่าวว่า เหรียญ JFin Coin ไม่ได้เข้าข่ายห้ามใช้ของ ก.ล.ต. โดยเป็นเหรียญสเตเบิลคอยน์ ที่มีราคาค่อนข้างคงที่ ออกมาในรูปแบบเป็นยูทิลิตี้ โทเคน หรือเหรียญที่เป็นสิทธิประโยชน์ อย่างการนำเหรียญ JFin มาลดราคาสินค้า หรือแลกโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการใช้เหรียญ JFin ภายในระบบนิเวศของเจ มาร์ทเท่านั้น
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART กล่าวว่า กลุ่ม BTS เตรียมจะนำเหรียญ JFin Coin เข้าไปสามารถใช้จ่ายในกลุ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายค่าโดยสาร ค่าใช้จ่ายด้านโฆษณา และค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ผ่านบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มของ BTS โดยในกลุ่ม JMART ได้มีการทดลองใช้เหรียญ JFin Coin มาแล้วกว่า 3 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นรายแรกและรายเดียวที่สามารถนำเหรียญไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้า อาทิ มือถือ อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ได้เป็นต้น
ลุยเจ มาร์ท-SCB
ขณะที่นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากที่หารือกับบริษัทจดทะเบียนที่ออกเหรียญ ยกตัวอย่าง บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่มีการออก Jfin coin ล่าสุด ได้ข้อมูลว่าสัญญาณของรอบนี้ในเชิงของ ecosystem ที่ใช้ในร้านเจ มาร์ท จะใช้ในรูปแบบของ Wallet to Wallet คือ ลด แลก แจก ในการทำโปรโมชั่น ซึ่งไม่ได้ใช้เหรียญในการชำระ ดังนั้น ในภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนอาจมองว่าไม่เข้าเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.ห้ามใช้ในเรื่องของการนำ Digital Asset มาใช้ในการชำระสินค้า
ด้านนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST กล่าวว่าเกณฑ์คุม Utility Token หรือ คูปองดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่สามารถใช้แลกสำหรับเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม หรือสิทธิพิเศษสำหรับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการ ในเดือน เม.ย.นี้ จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART หรือผู้ออก Token อื่น ๆ จะได้ประโยชน์ และหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ทำเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เป็นต้น
“เกณฑ์ที่ออกมาครั้งนี้ไม่ใช่ทำเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการดำเนินการไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีกรอบวางไว้ ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องออกเกณฑ์ดังกล่าว โดยมอง Utility Token หรือ คูปอง มีสภาพเป็นหนี้ไม่ใช่สินค้า เมื่อมีเกณฑ์ชัดเจนแล้ว ผู้ประกอบการก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้”นายมงคล กล่าว
ส่วน นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง เกณฑ์ ก.ล.ต.ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อไม่ให้สนับสนุน หรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ นั้น คาดว่าจะกระทบต่อผู้ออกเหรียญสำหรับนำไปซื้อสินค้าและบริการในประเทศบ้างเล็กน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ได้ปรับตัวไปแล้ว
ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในไทยประกอบธุรกิจเกี่ยวข้อง Crypto currency แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ 1. ผู้ให้บริการโทเคน หรือ ICO portal, 2. รับชำระค่าสินค้าบริการ, 3. ลงทุนใน Crypto currency และ 4. ขุดเหรียญ หรือ Bitcoin Mining
โดยบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจประเภทที่ 1 คือ ICO portal อาทิ KBANK, SCB, XPG, CGH และ JTS ประเภทที่ 2 คือผู้ที่รับเหรียญชำระค่าสินค้าบริการ อาทิกลุ่มอสังหา SIRI, ANAN, ORI, MJD กลุ่มสื่ออาทิ MAJOR คาดไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้บริโภคยังเป็นส่วนน้อยที่ใช้เหรียญในการซื้อขายสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนธุรกิจประเภทที่ 3-4 BROOK, JTS คาดไม่กระทบเลย เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ปรับตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยในส่วนของสิริฮับ หรือ Siri Hub Token ที่ออกโดยบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG จะไม่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจาก ผู้ลงทุนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ต่อปี จากโครงการ สิริ แคมปัส ซึ่งมีบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เป็นผู้เช่า โดยไม่มีการนำโทเคนไปซื้อขายสินค้าหรือบริการแต่อย่างใด
ขณะที่นางสาวจิตตินันท์ ชาติสีหราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) บริษัทในเครือของบริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า Token X พร้อมให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร (Full Suite Tokenization Service) เป็นที่แรกในไทย หลังได้รับการเปิดใช้งาน (Activate) ใบอนุญาต ICO Portal จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดย Token X ได้ผ่านการตรวจสอบและประเมินความพร้อมของระบบงานในการประกอบธุรกิจจากทาง ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อย
พร้อมกันนี้ ได้เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง หวังช่วยสร้างรากฐานระบบนิเวศด้านสินทรัพย์ดิจิทัล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทย ล่าสุด เปิดตัว “TKX Chain Solutions” โซลูชั่นที่ช่วยให้ลูกค้าองค์กรสามารถเริ่มต้นและนำธุรกิจเข้าสู่โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว