“ซูเปอร์บอร์ด” ติง “กสทช.” ปล่อยดีล TRUE ควบ DTAC ส่อผิด ม.157 แนะดูข้อกฎหมายใหม่

“ณภัทร วินิจฉัยกุล” ซูเปอร์บอร์ด ติง “กสทช.” ปล่อยดีล TRUE ควบรวม DTAC ส่อผิด ม.157 แนะดูข้อกฎหมายใหม่ และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน


นายณภัทร วินิจฉัยกุล ซูเปอร์บอร์ด กสทช. หรือ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พลตำรวจตรีเลิศศักดิ์ วิทยาพันธุ์ เลขานุการ กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรื่องขอให้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ และยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 แล้วนำประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กลับมาใช้ หรือนำออกมาเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อออกประกาศใหม่ที่มีมาตรฐานเดียวกันมาใช้ ในการประกอบการพิจารณาดำเนินการเพื่อมีคำสั่งไม่ให้มีการควบรวมกิจการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE หรือกลุ่มบริษัททรู กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC หรือกลุ่มบริษัทดีแทค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้นการนำคลื่นความถี่มาใช้ในกิจการของภาคเอกชนจำเป็นต้องคำนึงถึง 3 ส่วนนี้เป็นสำคัญ หากการกระทำใดที่ขัดกับประโยชน์ของภาคประชาชน สาธารณชน และประเทศชาติ ก็เป็นสิ่งที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อกฎหมาย จะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย ซึ่ง กสทช. ก็ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นสูงสุดกับผู้ใช้บริการและประชาชน รวมถึงศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

ทั้งนี้ในฐานะของนักกฎหมาย นักบริหาร และกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ที่มีบทบาทหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ในการตรวจสอบการทำงานของ สำนักงาน กสทช. ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นของ TRUE กับ DTAC ที่กำลังจะควบรวมกิจการกันนั้น ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นการควบรวมกิจการของธุรกิจหลักที่เป็นโครงสร้างการสื่อสารของประเทศที่มีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้าน อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามจากสังคมในหลายกรณี โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนโดยตรง คือ การมีอำนาจเหนือตลาด ใช้กลยุทธ์การแข่งขันที่เอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น คุณภาพการให้บริการต่ำลง กดดันผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งการกระทำที่ผ่านมาของ กสทช. ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างที่ควรจะเป็น

สำหรับการยื่นหนังสือต่อ กสทช. ในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานครั้งสำคัญที่จะกระตุ้นเตือนให้ กสทช. ได้พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ที่มีในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ดังนั้นหากไม่มีการพิจารณาให้รอบคอบถูกต้องตามหลักการและครอบคลุม รวมถึงการเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ สถาบันการศึกษา สภาคุ้มครองผู้บริโภค มาร่วมกันศึกษาถึงข้อมูล วิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงของผลกระทบจากการแข่งขันและผลที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน สุดท้ายผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชนที่ต้องแบกรับค่าบริการที่สูงขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือผู้บริโภค พร้อมทั้งกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศที่แสดงถึงหลักการที่ขัดแย้งกับการแข่งขันเสรี

อีกทั้งถ้าว่ากันด้วยหลักการและเหตุผล การทำงานของ กสทช.ชุดนี้ต้องรอ คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่มีการแต่งตั้งแล้ว รอแค่กระบวนการโปรดเกล้าแต่งตั้งก็สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ทันที เพราะมีหลายเรื่องสำคัญที่รออยู่ เพียงแต่คณะกรรมการชุดนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ของท่าน อย่าทำผิดกฎหมาย และท่านต้องสื่อสารให้สาธารณะรับทราบข้อมูลในเรื่องนี้ และมีประเด็นย่อยในกระบวนการทำงานของ กสทช. ที่มีหลักการกฎหมายที่เขียนไว้ว่าท่านต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ว่ากรณีนี้กระบวนการรับฟังสาธารณะท่านเชิญแต่โอเปอเรอเตอร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้เชิญภาคประชาชนเข้าไป ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดสรรคลื่นมาตรา 28 เขียนไว้เป็นบทบัญญัติสำคัญเลยว่าท่านต้องทำเช่นนี้ และเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมท่านถึงไม่ทำ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับเราโดยตรง ทำให้พวกเราเกิดความไม่มั่นใจ กังวลใจ เรื่องเช่นนี้ท่านกำลังทำอะไรอยู่ ท่านได้ตระหนักถึงผลส่วนรวมของประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนหรือไม่

“สิ่งที่ผมเตือนท่าน คือ ท่านกำลังทำผิดกฎหมาย ผมบอกว่า พี่ไฟแดงนะ แต่พี่ยังฝ่าไฟแดง ก็แปลว่าพี่ทำผิดกฎหมาย อย่างที่ 2 คือ ถ้าพี่ไปชนใครเข้า ก็ผิดอีกเด้ง ซึ่งเราก็ทำได้แค่เตือนเพราะเราไม่ใช่จราจร แต่อย่างน้อยที่สุดสังคมที่เกี่ยวข้องก็จะมองเห็น จากกรณีดังกล่าว หรือแม้แต่กรณีที่มอเตอร์ไซค์วินวิ่งบนทางเท้า ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองนี้ แก้ด้วยหลักการของกฎหมายเหรอ ? คงไม่ใช่ แต่ต้องแก้ที่จิตสำนึกของคนขับมอเตอร์ไซค์ ว่าฟุตบาทไม่ใช่ที่ที่รถจักรยานยนต์ไปวิ่ง ฟุตบาทเป็นทางเท้าให้คนเดิน จิตสำนึกแบบนี้เป็นจิตสำนึกที่ทำให้คนต้องปฏิบัติ ไม่ต่างอะไรกับคนเมาแล้วขับ” นายณภัทร กล่าว

อย่างไรก็ดีอยากให้ กสทช.ได้ทบทวน ถึงกรอบอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างเต็มความสามารถ ในการพิจารณาการควบรวมของ TRUE และ DTAC เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาของสังคม ซึ่งท่านกำลังทำผิดกฎหมายตามบทบัญญัติของทั้ง พรบ.กสทช และรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 60 ในเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงในมาตรา 157 ในเรื่องของละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง ตามพันธกิจในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใส

โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่น ซึ่งตัวบทหลักคือ 2553 และมันมีฉบับที่แก้ไข แต่สิ่งที่กำลังคุยกัน หลักการนี้ไม่มีแก้ อย่างเช่น กรณีที่ต้องรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย หลักการที่กฎหมายเขียนไว้ในมาตราที่ 27 ที่เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องดำเนินการเรื่องพวกนี้ เพื่อป้องกันการควบรวม การครอบงำ การทำให้เรื่องของตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างเสมอภาคเกิดขึ้น เป็นหน้าที่ที่เขียนไว้ในกฎหมาย และตัว พรบ.กิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็มีมาตรการที่เขียนไว้ ถ้าจำไม่ผิดคือ มาตราที่ 21 เขียนไว้ชัดเจนในเรื่องนี้

นอกจากนั้นยังมีกฎหมายลูกที่เรียกว่าประกาศตาม พรบ กิจการโทรคมนาคม ปี 2544 ก็ยังมีประกาศที่เกี่ยวข้องอีก ซึ่งตัว Key สำคัญจริงๆ คือ ประกาศที่ออกเมื่อปี 2549 มีกรอบหลักการชัดเจนว่า จะเป็นบทเฉพาะกาลในการคุ้มครองเรื่องนี้ นี่คือ key สำคัญ แต่ท่านก็ไม่ทำ ดังนั้นถ้าท่านไม่ทำพื้นฐานความคิดเห็นในฐานะนักกฎหมายคือ ท่านกำลังผิด ซึ่งไม่อยากให้เกิดเรื่องนี้เลย เพราะเรื่องอย่างนี้เหมือนกรณีชนคนที่ทางม้าลาย ที่ไม่อยากเกิดขึ้นอีก

“วันนี้ผมในฐานะนักกฎหมาย, นักบริหาร, เป็นกรรมการ จากประสบการณ์ของพี่ พี่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ที่ถ้าไม่มีใครเริ่ม ไม่มีใครทำ บ้านเมืองเจ็บ พี่น้องเดือดร้อน พี่อยากให้เป็นกฎหมายและหลักการ คือ เรื่องอะไรต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ ทุกคนมีหน้าที่ อย่าทำเป็นแบบว่าธุระไม่ใช่ เพราะไม่งั้นบ้านเมืองจะเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระตามบทบัญญัติกฎหมาย ท่านไม่ได้มีอิสระตามอำเภอใจนะครับ สิ่งที่ท่านใช้อำนาจในฐานะเป็นองค์กรอิสระ มีความสำคัญใหญ่หลวง จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึง ประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน, ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของบ้านเมือง ต้องตระหนักครับ” นายณภัทร กล่าว

Back to top button