สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 28 มี.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 28 มี.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (28 มี.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 1% ขานรับแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นเทสลาที่พุ่งขึ้นกว่า 8% ขณะที่นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2564 และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในสัปดาห์นี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,955.89 จุด เพิ่มขึ้น 94.65 จุด หรือ +0.27%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,575.52 จุด เพิ่มขึ้น 32.46 จุด หรือ +0.71% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,354.90 จุด เพิ่มขึ้น 185.60 จุด หรือ +1.31%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันจันทร์ (28 มี.ค.) นำโดยหุ้นกลุ่มรถยนต์และกลุ่มปลอดภัย ขณะที่ความหวังเกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขาย แต่ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงกดดันหุ้นกลุ่มน้ำมัน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 454.17 จุด เพิ่มขึ้น 0.62 จุด หรือ +0.14%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,589.11 จุด เพิ่มขึ้น 35.43 จุด หรือ +0.54%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,417.37 จุด เพิ่มขึ้น 111.61 จุด หรือ +0.78% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,473.14 จุด ลดลง 10.21 จุด หรือ -0.14%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันจันทร์ (28 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ร่วงลงตามราคาน้ำมันท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ลดลงในจีน หลังการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ที่ระบาดเพิ่มขึ้น

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,473.14 จุด ลดลง 10.21 จุด หรือ -0.14%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันจันทร์ (28 มี.ค.) หลังจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 7.94 ดอลลาร์ หรือ 7% ปิดที่ 105.96 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ดิ่งลง 8.17 ดอลลาร์ หรือ 6.8% ปิดที่ 112.48 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,940 ดอลลาร์ในวันจันทร์ (27 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ราคาทองยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 14.4 ดอลลาร์ หรือ 0.74% ปิดที่ 1,939.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 41.9 เซนต์ หรือ 1.64% ปิดที่ 25.196 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 17.4 ดอลลาร์ หรือ 1.73% ปิดที่ 991.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 151.90 ดอลลาร์ หรือ 6.34% ปิดที่ 2,242.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (28 มี.ค.) ขานรับการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เสนอซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีแบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.31% แตะที่ 99.0920 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 123.60 เยน จากระดับ 122.10 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9351 ฟรังก์ จากระดับ 0.9308 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2527 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2474 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0993 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0989 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3098 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3187 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7501 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7522 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button