SINGER วางเป้าปี 65 รุกขยายแฟรนไซส์ 7 พันราย ลุ้นพอร์ตสินเชื่อโต 1.5 หมื่นลบ.
SINGER ตั้งเป้าปี 65 รุกขยายแฟรนไชส์เท่าตัวเป็น 7,000 รายทั่วทุกอำเภอ เพิ่มยอดขายสินค้าโต 20% และพอร์ตสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อน ขณะที่คาดกำไร Q1/65 แตะ 220 ลบ. โบรกฯแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 60.50 บ.
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (29 มี.ค. 2565) กรณีประเด็นของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ว่า ในปี 2565 บริษัทยังตั้งเป้าหมายเชิงรุก ขยายแฟรนไชส์เท่าตัวเป็น 7,000 รายทั่วทุกอำเภอ โดยจะเพิ่มยอดขายสินค้า เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน และพอร์ตสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกันในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เริ่มเห็นความคืบหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งการขยายตัวแทนใกล้ 4,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเริ่มรุกขยายเข้าไปกับหน่วยงานระดับอำเภอท้องถิ่นเพื่อเร่งยอดขายสินค้าซิงเกอร์ รวมถึงการใช้เงินหลังเพิ่มทุนขยายสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ ใกล้เคียงเป้าที่เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ขณะคุณภาพลูกหนี้และการตั้งสำรองควบคุมได้ทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้เบื้องต้นคาดกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 และเพิ่มขึ้น 57% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยจะทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง และต่อเนื่องไปยังไตรมาส 2/2565 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของบริษัท
อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการเติบโตไปตามแผน จะเห็นโอกาสที่ตลาดจะเกิด Upgrade momentum จาก 1.ผลประกอบการระยะสั้นที่ดีกว่าคาด ทั้งนี้รายได้ภาคเกษตรเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 ออกมาแกร่งทั้งจากปริมาณขายและราคาสินค้าที่ปรับขึ้นหนุนกำลังซื้อ, ยอดขายสินค้าหมวดใหม่ เช่น IoTs, Solar rooftop ครัวเรือน ร่วมกับ GUNKUL และสินค้ากลุ่มกัญชงในครึ่งปีหลังของปี 2564 และการขาย-สินเชื่อใหม่ ผ่านช่องทาง JAYDEE,Line@
2.ระยะยาวการปลดล็อคมูลค่า SG Capital (SGC) บ.ย่อยที่ถือพอร์ตสินเชื่อราว 1.3 หมื่นล้านบาท ในช่วงกลางปีนี้ประเมินการทำ IPO ใน 3/2564 จะทำให้ D/E โดยรวมลดต่ำกว่า 0.5 เท่า สามารถขยายพอร์ตสินเชื่อไปถึงระดับ 5 หมื่นล้านบาทใน 5 ปี อย่างไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไปและเข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต ต่ำกว่าปัจจุบัน 5.5-6% ราว 150-200bps
ทั้งนี้มีการประเมินกำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 1,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และประเมินกำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 1,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งโดดเด่นกว่ากลุ่มจำนำทะเบียนที่เพิ่มขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับปี 2564
โดยมีการปรับราคาเหมาะสมปี 2565 ขึ้น 11% เป็น 60.50 บาท โดยอิงจากค่า P/E เดิม 33 เท่า เป็น 40 เท่า ณ ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี +2SD ส่วนหนึ่งเกิดจาก Dilution effect จากการเพิ่มทุนในปลายปีก่อน แต่สามารถชดเชยด้วยการเติบโตใน 12 เดือนข้างหน้า ทำให้ค่า P/E ปี 2566 ลดลงเหลือ 27 เท่า เทียบเท่า PEG 1 เท่า เป็นระดับที่สมเหตุสมผลสำหรับ Growth stock