DITP แนะเทรนด์ “บรรจุภัณฑ์” ปี 65 สร้างกำไรส่งออกตลาดญี่ปุ่น
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แนะผู้ส่งออกไทยเกาะติดเทรนด์บรรจุภัณฑ์ปีนี้ หลังสร้างมูลค่าการส่งออกในตัวสินค้า โดยเฉพาะผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ถึงแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์อาหารในตลาดญี่ปุ่น เป็นที่ดึงดูดใจต่อผู้บริโภค เพื่อนำมาชี้แจงให้ผู้ส่งออกไทยได้รับรู้ และนำไปปรับใช้กับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกและขายสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น
โดยเทรนด์ของบรรจุภัณฑ์ในตลาดญี่ปุ่นปี 2565 ได้แก่ การมีดีไซน์แนว Minimal ที่ดูเรียบง่าย มีตัวอักษรน้อย และเลือกสีที่ทำให้ผู้เห็นรู้สึกผ่อนคลาย ดีไซน์บรรจุภัณฑ์ด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหันมาใช้วัสดุแทนพลาสติมากขึ้น เช่น กระดาษหรือพลาสติกย่อยสลายได้ สะท้อนแนวคิด “การบริโภคยึดจริยธรรม” ในบรรจุภัณฑ์ การลดวัสดุทำบรรจุภัณฑ์ให้น้อยลง เน้นดีไซน์ไม่เพียงแค่ด้านนอก แต่ใส่ใจการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ด้านในด้วย พร้อมกับการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ที่มีมิติมากขึ้น (3 มิติ)
สำหรับสินค้าไทยที่จะวางจำหน่ายในญี่ปุ่น ฉลากสินค้าต้องมีการกำกับเป็นฉลากภาษาญี่ปุ่น ระบุข้อมูลผู้ผลิต ผู้นำเข้า ข้อมูลโภชนาการต่าง ๆ เพิ่มด้วย หรืออาจมีการนำฉลากสติ๊กเกอร์ภาษาญี่ปุ่นแปะทับบนตัวบรรจุภัณฑ์โดยตรง และการพิมพ์เป็นฉลากภาษาญี่ปุ่นแทนภาษาต่างประเทศ
ในบางกรณีอาจจะมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เป็นภาษาญี่ปุ่นเลย ยกตัวอย่างสินค้าไทยที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นซอสปรุงรส ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงอาหาร พริกแกงสำเร็จรูป หรือสินค้าพร้อมทานต่าง ๆ ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการออกแบบบรรจุภัณฑ์
นอกจากบรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีการระบุเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังต้องระบุสัญลักษณ์ประเภทวัสดุของบรรจุภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกขยะทิ้งได้อย่างถูกต้อง เช่น เป็นพลาสติก กระดาษ ขวด PET หรือวัสดุเผาไม่ได้อย่างอลูมิเนียม และหากเป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน เช่น แกงสำเร็จรูป ก็ต้องมีสัญลักษณ์ไมโครเวฟแสดงให้เห็น มีวิธีการอุ่น รวมถึงมาตรฐานที่ได้รับ เช่น ฮาลาล ออร์แกนิก