“หมอมนูญ” ยอมรับ “โอมิครอน” หลบภูมิคุ้มกันเก่ง-ติดเชื้อซ้ำง่าย

แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ยอมรับ “โอมิครอน” หลบหลีภูมิคุ้มกันได้ดี แม้จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว จนทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ พร้อมแนะวัคซีนยังช่วยลดการเจ็บป่วยรุนแรง


นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความยอมรับว่า เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” เป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี แม้ว่าจะเคยได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบ 2 เข็ม และตามด้วยเข็มกระตุ้น หรือเคยติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ หรือเคยได้รับโมโนโคลนอลแอนติบอดี REGEN-COV มาก่อน ซึ่งสามารถจะเพิ่มภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อเดลตาซ้ำอีก และอยู่ในร่างกายได้นาน 8 เดือน

อย่างกรณีผู้ป่วยหญิงอายุ 90 ปี เป็นเบาหวาน ความดันโลหิต ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม เดือนมิถุนายน และสิงหาคม 2564 ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา วันที่ 21 ตุลาคม 2564 มีอาการไข้ ไอ น้ำมูกไหล ตาแดง และเนื่องจากคนไข้มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรง จึงทำการรักษาด้วยการให้โมโนโคลนอลแอนติบอดี REGEN-COV ทางเส้นเลือด ไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ คนไข้ดีขึ้นเร็วมาก กลับบ้านได้ภายใน 1 สัปดาห์ หลังหายแล้วได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์อีก 1 เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเดือน กุมภาพันธ์ 2565

แต่ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2565 คนไข้รายเดิม มีอาการไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก ไอบ้าง ไม่เจ็บคอ ไม่เหนื่อย วัดระดับออกซิเจนปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ ตรวจ ATK ให้ผลบวก เนื่องจากมีอาการน้อยกว่าครั้งที่แล้วมาก ได้แนะนำให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน และกินยาตามอาการ ไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ คนไข้ดีขึ้นเอง หายเป็นปกติใน 5 วัน

จากตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้จะเห็นได้ว่า แม้ผู้ป่วยจะได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบโดส และเคยมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ จากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา เมื่อ 5 เดือนก่อน ประกอบกับเคยได้รับโมโนโคลนอลแอนติบอดี เมื่อ 5 เดือนก่อน ซึ่งสามารถจะอยู่ในร่างกาย มีภูมิต้านทาน และป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาซ้ำได้นานถึง 8 เดือน ก็ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้

อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสการติดเชื้อซ้ำสามารถเกิดขึ้นได้ แต่การได้รับวัคซีน และมีภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมในร่างกาย สามารถช่วยให้ผู้ป่วยในกลุ่มเปราะบาง ลดความรุนแรงในการเจ็บป่วย หรือเกิดการสูญเสียจากการติดเชื้อโควิด-19

Back to top button