“คลัง” เลื่อนเก็บภาษีหุ้น ชี้จังหวะไม่เหมาะ หลังสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” กระทบศก.ไทย
“คลัง” ชะลอการจัดเก็บภาษีออกไปอีกสักระยะหนึ่ง ชี้จังหวะไม่เหมาะสม หลังสงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" และ “โควิด-19” กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเลื่อนการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น (Transaction Financial Tax) ออกไป เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่เหมาะสม โดยภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ได้รับผลกระทบทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์โควิด ทำให้อาจจำเป็นต้องชะลอการจัดเก็บภาษีตัวนี้ออกไปอีกสักระยะหนึ่ง
ทั้งนี้หากถามถึงความพร้อมในการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น กระทรวงการคลังมีความพร้อม ส่วนในประเด็นเรื่องอัตราการจัดเก็บนั้น มองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น บางประเทศเก็บภาษีน้อยกว่าไทยขณะที่บางประเทศก็เก็บภาษีมากกว่า และบางประเทศเก็บภาษีรูปแบบผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (capital gain) ไม่ได้เก็บจากการขาย
“เชื่อว่าถ้าในประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อตลาดมากนัก และเข้าใจว่าคนที่อยู่ในตลาดนี้มีรายได้ค่อนข้างสูง และความจริงแล้วกระทรวงการคลัง มีกฎหมายออกมาให้เก็บภาษีตัวนี้ตั้งแต่ปี 2530 แต่เราก็ยกเว้นมาโดยตลอด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยช่วงนั้นมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 7-8 แสนล้านบาท แต่วันนี้มูลค่าตลาดสูงถึง 16 ล้านล้านบาท หรือพอ ๆ กับขนาดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ”นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า หากมีการเลื่อนการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นออกไป จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2565 เนื่องจากกรมสรรพากรยังไม่ได้นำรายได้ตัวนี้เข้ามารวมในคาดการณ์รายได้ของกรมในปีงบประมาณนี้ มีเพียงรายได้จากภาษีอีเซอร์วิส ที่ได้นำมารวมเป็นคาดการณ์รายได้ของกรม ซึ่งเดิมคาดว่าจะมีรายได้จากภาษีอีเซอร์วิส ในปีงบประมาณนี้ ประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8,000-10,000 ล้านบาท
ขณะที่ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้เคยศึกษาว่า หากต้องจัดเก็บภาษีการขายหุ้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 0.11% ของยอดขาย จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อนักลงทุนในตลาด พบว่า นักลงราว 80% จะไม่ได้รับผลกระทบเพราะมูลค่าการขายต่อเดือนไม่เกิน 1 ล้านบาท
สำหรับอัตราการจัดเก็บนั้นถูกกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรอยู่แล้วที่ 0.1% ของการขาย บวกกับภาษีท้องถิ่นอีก 10 % รวมเป็น 0.11% แต่ภาษีตัวนี้ได้รับการยกเว้นมานานถึง 30 ปีแล้ว ทั้งนี้ กรมสรรพากรมองว่า อัตราที่จัดเก็บดังกล่าวเป็นอัตราที่ต่ำ โดยคิดเฉพาะส่วนเกินของวงเงินที่ได้รับการยกเว้น เช่น หากวงเงินการขายเกินมา 1 พันบาท จะเสียภาษีเพียง 1 บาทเศษ ถ้าวงเงินการขายเกินมา 1 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียง 1 พันบาทกว่าเท่านั้น ดังนั้น จึงถือว่าภาระภาษีไม่ได้มาก โดยเฉพาะภาระที่เกิดกับนักลงทุนรายใหญ่ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูง