BTS ลงทุน “TBN” ถือหุ้น 25% รุกซอฟต์แวร์โซลูชั่น ขยายไลน์ธุรกิจ รับอุตสาหกรรมดิจิทัล

BTS ลงทุน “TBN” ถือหุ้นสัดส่วน 25% รุกซอฟต์แวร์โซลูชั่น เล็งหนุนเข้าตลาด มั่นใจเสริมแกร่งสอดคล้องกลยุทธ์ 3M ผลักดันธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างโอการเติบโตสูง


บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ระบุว่า บริษัทฯ เข้าถือหุ้น 25% ใน บริษัท ทีบีเอ็น ซอฟต์แวร์ จำกัด (TBN) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยใช้แพลตฟอร์มการออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ Low Code Development Platform (LCDP)

สำหัรบการเข้าลงทุนในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขยายธุรกิจของ BTS ไปสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โซลูชั่นที่มีการพัฒนารุดหน้าอย่างต่อเนื่อง TBN เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2551 โดยเป็นผู้ออกแบบพัฒนา และให้บริการซอฟต์แวร์ Low-Code รายแรกที่มีประสบการณ์มากที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นต่างๆ ผ่านซอฟต์แวร์ Mendix Low Code Development Platform (LCDP) ให้แก่บริษัทชั้นนำ และบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง

ทั้งนี้ในฐานะที่ TBN เป็นตัวแทนจำหน่าย Mendix LCDP ในประเทศไทย จึงมีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี และไอทีโซลูชั่นด้วยการเขียนโค้ดทั้งแบบ Low-Code และแบบดั้งเดิม โดยซอฟต์แวร์ LCDP ช่วยให้ผู้ที่ไม่ใช่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (non-developer) สามารถสร้างแอปพลิเคชั่นโดยใช้ Graphic User Interface (การเขียนโปรแกรมโดยใช้ภาพ) แบบ drag-and-drop ที่แตกต่างจากวิธีการเขียนโค้ดดั้งเดิม ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาที่ไม่มีเทคนิคเฉพาะทาง มีประสบการณ์เขียนโค้ดเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย สามารถทำงานร่วมกับผู้เขียนโค้ดได้ตั้งแต่การระดมความคิด และการพัฒนาไปจนถึงการติดตั้งปรับใช้ และการใช้งานจริง จึงเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนนักพัฒนา ลดเวลาในการพัฒนา และที่สำคัญที่สุดคือเพิ่มความเร็วในการออกสู่ตลาด

โดย นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน BTS กล่าวว่า เชื่อมั่นในแผนธุรกิจและแนวทางของ TBN และเชื่อว่าศักยภาพของตลาดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี Low-Code นี้มีมากมายมหาศาล คาดว่าในอนาคต TBN จะเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะผู้บุกเบิก LCDP ในประเทศไทย และตั้งตารอที่จะสนับสนุน TBN ในการเสนอขายหุ้น IPO และโอกาสทางธุรกิจจะเกิดขึ้นในอนาคตการเข้ามาเป็นพันธมิตรในครั้งนี้ จะส่งผลให้กิจการขยายการเติบโตขึ้น สร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่าย 3M (MOVE, MIX และ MATCH) อีกด้วย

ทั้งนี้ BTS เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจให้เกิดความหลากหลาย เพราะการเข้าเป็นพันธมิตรกับ TBN หนึ่งในบริษัทซอฟต์แวร์โซลูชั่นชั้นนำ สอดคล้องกับกลยุทธ์ 3M ของบริษัท นอกจากนี้จากการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลที่ดำเนินรุดหน้าแบบก้าวกระโดด จะช่วยเสริมกำลังให้บีทีเอส กรุ๊ปฯ สามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจในแวดวงดิจิทัลโซลูชั่น และสร้าง synergy ร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ ได้ในอนาคต

ด้านนายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TBN กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรกับ BTS ช่วยให้สามารถขยายกิจการด้านเทคโนโลยี Low-Code ไปยังกลุ่มองค์กรในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากภาคการเงิน ประกันภัย ไปถึงภาคการผลิตและค้าปลีกซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหม่ของ TBN รวมถึงขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ

ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง Artificial Intelligence (AI) Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) มาผสมผสานเพื่อให้ได้โซลูชั่นที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มลูกค้าของ TBN มั่นใจว่าบีทีเอส กรุ๊ปฯ จะเป็นกำลังสนับสนุนที่แข็งแรงให้แก่ TBN ในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเห็นได้จากความสำเร็จที่ BTS สร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกับบรรดาพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมทั้งเพิ่มการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

โดยในปี 2564 TBN มีรายได้รวม 293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับปี 2563 ขณะที่กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) อยู่ที่ 102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดย TBN สามารถสร้างฐานลูกค้าที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีก บริษัทการเงินและประกันภัย รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ (อาทิ Makro, SCB, KTC, CPF) ความสำเร็จ และผลงานอันโดดเด่นที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้เห็นว่า TBN จะเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โซลูชั่นอย่างแน่นอน พร้อมทั้งมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โซลูชั่นในภาพรวมจะขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 13% และในส่วนของเทคโนโลยี Low-Code คาดว่าจะเติบโตกว่า 30% โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลโซลูชั่นจะขยายตัวครอบคลุมทั่วทั้งภาคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม 4.0 ของประเทศไทย เสริมด้วยแรงหนุนจากความต้องการขององค์กรในการสร้างความทันสมัย (Modernisation) และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digitisation)

 

Back to top button