สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 มี.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 มี.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,678.35 จุด ลดลง 550.46 จุด หรือ -1.56%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,530.41 จุด ลดลง 72.04 จุด หรือ -1.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,220.52 จุด ลดลง 221.76 จุด หรือ -1.54%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) และปรับตัวลงเป็นไตรมาสแรกในรอบ 8 ไตรมาส เนื่องจากตลาดถูกกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจจากผลกระทบของการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 455.86 จุด ลดลง 4.33 จุด หรือ -0.94% และลดลงราว 6.5% ในไตรมาสแรก หลังบวกติดต่อกัน 7 ไตรมาส เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในยูเครน
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,659.87 จุด ลดลง 81.72 จุด หรือ -1.21%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,414.75 จุด ลดลง 191.30 จุด หรือ -1.31% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,515.68 จุด ลดลง 63.07 จุด หรือ -0.83%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามในยูเครน แต่ตลาดยังสามารถปรับตัวขึ้นได้เป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,515.68 จุด ลดลง 63.07 จุด หรือ -0.83% โดยเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 3 สัปดาห์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 7% ในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) หลังสหรัฐยืนยันว่าจะระบายน้ำมันในคลังสำรองจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 7.54 ดอลลาร์ หรือ 7% ปิดที่ 100.28 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 5.54 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 107.91 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 15 ดอลลาร์ หรือ 0.77% ปิดที่ 1,954 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 2 เซนต์ หรือ 0.08% ปิดที่ 25.133 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 5.4 ดอลลาร์ หรือ 0.54% ปิดที่ 995.8 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 12.50 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 2,255.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.53% แตะที่ 98.3100 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9226 ฟรังก์ จากระดับ 0.9225 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2479 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2476 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 121.59 เยน จากระดับ 121.79 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1073 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1164 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3136 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3137 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7489 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7508 ดอลลาร์สหรัฐ