“ทิสโก้” คาดกำไรบจ. Q1 นิวไฮ! แนะ 7 หุ้น “ปลอดภัย” เดือนเม.ย.

“ทิสโก้” คาดกำไรบจ. Q1 นิวไฮ! คาดหวังเจรจาสันติภาพยูเครนหนุน SET เม.ย. ประเมินกรอบเคลื่อนไหว 1,660 - 1,700 จุด พร้อมแนะ 7 หุ้น “ปลอดภัย” ประกอบด้วย AP, BBL, BCH, MINT, PTTEP, PTTGC และ SPVI


บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยไตรมาส 1/2565 จะพุ่งแตะ 3 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หนุนภาพรวมการลงทุนเดือน เม.ย. พร้อมเตือนนักลงทุนไม่ต้องตื่นตระหนกกับการเกิด Inverted Yield Curve ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในบางคู่ จนรีบเทขายหุ้นทิ้งทั้งหมด แนะติดตามสถานการณ์ โดยอาจขายปรับพอร์ต – ถือเงินสดเพิ่มขึ้นบางส่วนในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เดือนที่ผ่านมาแกว่งตัวไปตามพัฒนาการของสงครามยูเครน – รัสเซีย ที่ประเมินไว้ 3 กรณี สำหรับภาพรวมการเคลื่อนไหวหลักของ SET Index อยู่ในกรอบ 1,660 – 1,700 จุด ซึ่งเป็นกรณีฐานที่ประเมินไว้ โดยเชื่อว่าความหวังการเจรจาสันติภาพที่คาดจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 ของตลาดโดยรวมที่เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 หลัก เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แตะระดับ 3 แสนล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งน่าจะช่วยหล่อเลี้ยงบรรยากาศการลงทุนโดยรวมต่อเนื่องในเดือนนี้

สำหรับผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของ บล.ทิสโก้ มีทั้งสิ้น 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB

โดยคาดว่าไตรมาส 1/2565 จะมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 4.89 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 21.70% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การเติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อนหลักๆ มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อ และการตั้งสำรองฯ (ต้นทุนเครดิต) ที่คาดจะลดลงจากการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริหารคุณภาพสินทรัพย์

ขณะที่การเติบโตของกำไรจากไตรมาสก่อน มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และต้นทุนเครดิตที่ลดลง ซึ่งบล.ทิสโก้เชื่อว่า ธนาคารขนาดใหญ่ยังมีโอกาสเห็นต้นทุนเครดิตลดลงได้มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก รวมทั้งจะได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลักๆ มาจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย และมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ รวมถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และแนวโน้มการเร่งเข้มงวดทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและการเริ่มดึงสภาพคล่องออกจากระบบในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนนี้ เชื่อว่าจะไม่เป็นผลดีต่อตลาดโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ และทิศทางของกระแสเงินทุนต่างประเทศในระยะถัดไป

สำหรับการเริ่มเกิดปรากฏการณ์ “Inverted Yield Curve” ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว โดยเกิดสัญญาณขึ้นในในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Bond Yield) บางคู่ เช่น คู่ของอายุ 10 ปี – 5 ปี และคู่ของอายุ 30 ปี – 5 ปี เป็นต้น ขณะที่คู่ของอายุ 10 ปี – 2 ปี ก็ใกล้จะติดลบเช่นกัน อย่างไรก็ตามในมุมมองของ บล.ทิสโก้เชื่อว่า คู่ของอายุ 10 ปี – 3 เดือน น่าจะสะท้อนภาพวัฏจักรเศรษฐกิจได้ดีกว่า

“จากการศึกษาข้อมูล US Bond Yield คู่ของอายุ 10 ปี – 3 เดือนนับตั้งแต่ปี 2513 พบว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ คู่ของอายุ 10 ปี – 3 เดือนติดลบทุกครั้ง โดยใช้เวลาเฉลี่ย 19 เดือนหลัง Yield Curve ติดลบ ขณะที่ราคาหุ้น (MSCI DM Index) จะผันผวนสูงในช่วงเดือนแรกๆ ที่เกิด Inverted Yield Curve ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วง 4-5 เดือนถัดไป ซึ่งหลังจากนั้นตลาดหุ้นมักจะเกิดการปรับฐานลงครั้งใหญ่ตามมา โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 13 เดือน โดยมีระยะเวลาที่สั้นที่สุด คือ 6 เดือน และนานที่สุด คือ ประมาณ 2 ปี” นายอภิชาต กล่าว

ทั้งนี้แม้ปัจจุบันส่วนต่าง US Bond Yield คู่ของอายุ 10 ปี – 2 ปี ใกล้จะติดลบแล้ว แต่ บล.ทิสโก้มองเป็นเพียงสัญญาณเตือนให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนเท่านั้น และอยากให้นักลงทุนพิจารณาควบคู่ไปกับส่วนต่าง US Bond Yield คู่ของอายุ 10 ปี – 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นบวกกว่า 180 bps ดังนั้นนักลงทุนยังไม่ต้องตื่นตระหนกกับการเกิด Inverted Yield Curve ในบางคู่ จนรีบเทขายหุ้นทิ้งทั้งหมด โดยบล.ทิสโก้แนะนำเพียงแค่ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์การลงทุนให้ใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิม และ/หรือ อาจขายปรับพอร์ต-ถือเงินสดเพิ่มขึ้นบางส่วนในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ดีจากมุมมองข้างต้น บล.ทิสโก้ยังคงกลยุทธ์ “Selective Buy” สำหรับการลงทุนในเดือนเมษายนมีประเด็นหุ้นที่น่าสนใจ คือ 1.หุ้นที่ป้องกันเงินเฟ้อได้ และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น แนะนำ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL 2.หุ้นเปิดเมืองรับการผ่อนคลายต่างชาติเข้าประเทศง่ายขึ้นและการเตรียมปรับ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น แนะนำ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT และ 3. หุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เด่น บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP, บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH,และ บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SPVI เพราะฉะนั้นหุ้นเด่นที่บล.ทิสโก้แนะนำในเดือนเมษายน คือ AP, BBL, BCH, MINT, PTTEP, PTTGC และ SPVI

ด้านแนวรับสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,660 – 1,670 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,640 จุด และ 1,620 จุด ตามลำดับ และแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,700 – 1,705 จุด และแนวต้านต่อไปคือ 1,720 – 1,730 จุด และ 1750 จุด ตามลำดับ

Back to top button