น้องใหม่ JDF เทรดวันนี้! ลุ้นวิ่งเป้า 3.70 บ. จับตาปี 65 กำไรโตกว่าเท่าตัว
น้องใหม่ JDF ลงสนามเทรดวันนี้! ลุ้นวิ่งเป้า 3.70 บ. จากราคา IPO ที่ 2.60 บ. จับตาปี 65 กำไร 95 ลบ. เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รับรายได้เพิ่ม หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น พร้อมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ โบรกคาดกำไรปี 65-66 เติบโตเฉลี่ย 85%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 เม.ย.2565) หลักทรัพย์บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF จะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดย JDF ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องปรุงรสอาหาร (Food Seasoning) ซอส ไส้ขนม อาหารอบแห้ง แบบครบวงจรตามความต้องการของลูกค้า (Made to Order) ซึ่งเครื่องปรุงรสอาหารดังกล่าวนำไปใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบส่วนผสมในการปรุงอาหารของลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร
อีกทั้งรับจ้างผลิตขนมขบเคี้ยวประเภทมะพร้าวอบกรอบความต้องการของลูกค้าแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัททั้งผงเขย่าปรุงรสและไส้เบเกอรี่ ตรา ‘โอเค’ ผลิตภัณฑ์เครื่องแกงปรุงรสและอาหารไทยกึ่งสำเร็จรูป ตรา ‘กินดี’ หรือ ‘Kin Dee’มะพร้าวอบกรอบ ตรา ‘Crispconut’ และตรา ‘Little Monkey’ และ ซุปกึ่งสำเร็จรูปไม่ใส่ผงชูรสทุกชนิดตรา ‘GOOD EATS’
โดย JDF มีทุนชำระแล้วหลังการเสนอขาย IPO 300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 450 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) 150 ล้านหุ้น โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรกระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2565 ในราคาหุ้นละ 2.60 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 390 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,560 ล้านบาท
ทั้งนี้ ราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 25.78 เท่า โดยมีบริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ
ด้านนางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JDF เปิดเผยว่า ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารกว่า 30 ปี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยของลูกค้าในธุรกิจอาหาร ร้านอาหารยักษ์ใหญ่ รวมไปถึงธุรกิจ SMEs กว่า 300 ราย โดยบริษัทมีทีมวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์อาหารในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนสูตรอาหารให้ตรงความต้องการและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งได้พัฒนามาแล้วกว่า 2,000 รสชาติ ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการทำธุรกิจ ทั้งนี้บริษัทมีความพร้อมรองรับโอกาสการเติบโตหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เนื่องจากได้สร้างโรงงานแห่งใหม่ตามมาตรฐานรับรองคุณภาพในระดับสากล เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และก้าวสู่การเป็นผู้พัฒนาสูตรและผู้ผลิตเครื่องปรุงรสชั้นนำของประเทศ
สำหรับการระดมทุนและการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบริษัทในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทั้งด้านฐานะการเงิน และขีดความสามารถขยายธุรกิจ โดยเงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO จะนำไปใช้เพื่อขยายช่องทางตลาดไปยังต่างประเทศ ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาและระบบเทคโนโลยีสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการเติบโต ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
โดย JDF มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% โดยพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่าง ๆ ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน สภาพคล่อง แผนการลงทุนและการขยายธุรกิจในอนาคต สภาวะตลาด ความเหมาะสม และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO ได้แก่ ครอบครัวหอสัจจกุล และ นางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัท ถือหุ้นรวม 75%
ขณะที่บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเมินมูลพื้นฐานของ JDF ปี 2565 ที่ 3.70 บาท/หุ้น ด้วยวิธี PE ที่ 23 เท่า ตาม average forward PE ของ 4 บริษัทที่มีธุรกิจใกล้เคียง (XO, RBF, GLUCON, NSL) มองว่า JDF นั้นมีความน่าสนใจเนื่องจาก 1) สินค้าที่หลากหลาย ผสานกับการบริการของบริษัทที่ครบวงจร (one stop service) ในการวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารตามความต้องการของลูกค้า 2) โรงงานและสินค้ามีคุณภาพรับรองจากมาตรฐานสากล 3) กาลังผลิตเพียงพอรองรับการเติบโตในอนาคต 4) แนวโน้มกาไรสุทธิฟื้นตัวเด่นหลัง COVID-19 คลี่คลาย และโตเฉลี่ย 85% CAGR ปี 2565-2566
โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดซอสและเครื่องปรุงรสของประเทศไทยอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท โดยมีการเติบโตเฉลี่ยในปี 2559-2563 อยู่ที่ 4.7% และถือเป็นการเติบโต 4.8% เมื่อเทียบจากปีก่อน ในปี 2563 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 สะท้อนการเติบโตที่มั่นคง และมีความเสี่ยงที่ต่ำ เนื่องจากประเภทธุรกิจของลูกค้าในอุตสาหกรรมมีความหลากหลาย และแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมใน 2564-2568 จะเติบโตอยู่ที่ราว 5.2% CAGR จากทั้งการเติบโตในประเทศตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และจากต่างประเทศจากความนิยมอาหารของชาวต่างชาติ (Ethnic Foods Influence)
ทั้งนี้มองรายได้ปี 2565-2566 อยู่ที่ 713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบจากปีก่อน และ 790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามลำดับ คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปีหนุนจากการรักษาฐานลูกค้าเดิมและการขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ หลังได้มาตรฐานรับรอง BRC อย่างการผลิตเครื่องปรุงรสให้กลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อสัตว์แช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบหม้อร้อน
รวมถึงวิจัยและเพิ่ม product line อย่าง protein snack และ สินค้ากลุ่มชุบแป้งทอดสาเร็จรูป batter mix และสินค้าภายใต้แบรนด์บริษัทคาดจะเติบโตเพิ่มขึ้นจาก หลังมีการ rebranding ตราสินค้า Kindee (เครื่องปรุงรสอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป) รวมถึงการรับรู้รายได้เต็มปีจากสินค้า GOOD EATS ที่เป็นซุป fine dining ปราศจากผงชูรสในราคาประหยัดอย่างซุปทรัฟฟรัล / ล็อบเตอร์ และการขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV+2 (ประเทศจีนตอนใต้และประเทศอินเดีย)
ขณะเดียวกันคาดกำไรสุทธิปี 2565-2566 โตเฉลี่ย 85% CAGR ตามรายได้และ % GPM ที่ฟื้นตัว โดยกำไรสุทธิปี 2565-2566 คาดอยู่ที่ 95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 164% เมื่อเทียบจากปีก่อน และ 123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามลำดับ
ทั้งนี้หนุนจากรายได้ที่เติบโต 18% CAGR ปี 2565-2566 จากกลุ่มเครื่องปรุงรสอาหารเป็นหลักหลัง COVID-19 คลี่คลายและการขยายฐานลูกค้าเพิ่ม รวมทั้ง %GPM คาดกลับมาฟื้นตัวตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น (economies of scale) ผสานกับสัดส่วนรายได้จากเครื่องปรุงรสและสินค้าใหม่ที่เป็นสินค้า %GPM สูงเพิ่มขึ้นทาให้ภาพรวม %GPM ดีขึ้น และคาดจะกลับมาเป็นปกติในปี 2565 และ %SG&A to sales ดีขึ้นตามรายได้ที่ฟื้นตัวเร็วกว่า fixed cost iv) ต้นทุนทางการเงินลดลงตามแผนชาระหนี้ของบริษัท