แพทย์เตือน “Long COVID” ส่งผลสมอง-อารมณ์ 30%
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย อาการ "Long COVID" เกิดหลังหายจากการติดเชื้อโควิดแล้ว สามารถพบได้นาน 3 เดือน โดยพบว่า 30 % ส่งผลทางสมองและอารมณ์แปรปรวน พร้อมแนะประชาชนไม่ติดดีที่สุด
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เปิดเผยถึง อาการ “Long COVID” เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่การติดเชื้อได้จบสิ้น (เชื้อไม่พบแล้ว)
โดยอาการของ “Long COVID” ไม่ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการที่เป็นตอนแรก สามารถเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย เกิดอาการได้หลายระบบ หรืออวัยวะพร้อมกัน อาการที่มีขณะติดเชื้อไม่สงบ แม้ว่าการติดเชื้อจะจบไปแล้ว และสามารถรุนแรงขึ้นได้ สามารถทอดยาวนานกว่า 3 เดือนต่อไปอีก หรือ อาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการใหม่ ที่ไม่ได้ปรากฎขณะที่ยังติดเชื้อ
สำหรับกลุ่มอาการที่พบได้ถึง 30% หรือมากกว่า คือ กลุ่มอาการทางสมองและจิตอารมณ์ และส่งผลทำให้เฉื่อยชา คิดช้า ความจำสั้น สมองเสื่อมและอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะคนที่เป็นอยู่แล้ว หรือกำลังจะเป็น โรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ หรือ พาร์กินสัน
ทั้งนี้หลักในการบำบัดต้องทำการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่ายังมีการอักเสบอยู่ในร่างกายและในสมองหรือไม่ และถ้ามีต้องทำการยับยั้ง โดยคำนึงถึงผลข้างเคียงของยาที่ใช้ในการรักษาด้วย และยังต้องประกอบด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้มีการกระตุ้นการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้น ได้แก่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น เนื้อแดง หรือ ระวังพืชผักผลไม้ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง รวมกระทั่งถึงมลพิษ PM 2.5 จากปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่าไม่ควรปล่อยตัวให้ติด เพราะอาจเคราะห์ร้ายระยะยาว
ส่วนวิธีที่อาจป้องกันการเกิด “Long COVID” ได้คือ การให้การรักษาเร็วที่สุด เมื่อรู้ว่าติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ระยะของการติดเชื้อสั้นที่สุด ตัวอย่างเช่น การใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีในประเทศไทยอยู่แล้ว โดในผู้ใหญ่ให้รับประทานฟ้าทะลายโจรให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลท์ 180 มิลลิกรัม ต่อวัน และในเด็กขนาด 30 มิลลิกรัม ต่อวัน แบ่งให้วันละสามครั้ง ตามงานวิจัยและพัฒนาเชิงรุกผลกระทบลองโควิด ของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย