WHO สั่งจับตาโอมิครอน “BA.4 – BA.5” หลังพบผู้ป่วยหลายประเทศ

องค์การอนามัยโลก สั่งจับตาโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ “BA.4 - BA.5” หลังพบการระบาดในแอฟริกาใต้ และอังกฤษ ขณะที่นักไวรัสวิทยาไทย เปิดข้อมูลที่มา “BA.4 - BA.5” ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์โอมิครอนก่อนหน้า เนื่องจากมีพันธุกรรมไวรัสเปลี่ยนแปลง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังติดตามการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ซึ่งพบผู้ติดเชื้อแล้วหลายราย เพื่อวิเคราะห์และประเมินว่า เชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว แพร่ระบาดได้ง่ายกว่า หรืออันตรายกว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย ที่พบก่อนหน้านี้ หรือไม่

ทั้งนี้มีรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 แล้ว ในอังกฤษ สกอตแลนด์ เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ และบอตสวานา ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม – 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่วนเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 พบในแอฟริกาใต้

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขบอตสวานา เปิดเผยว่า พบผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 แล้วอย่างน้อย 4 ราย ช่วงอายุระหว่าง 30-50 ปี ซึ่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้ว และมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

โดยก่อนหน้านี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Anan Jongkaewwattana” ว่า เชื้อ COVID-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่ครองพื้นที่เกือบ 100% ในแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนจะพบสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มาแย่งพื้นที่เกือบครึ่ง ซึ่ง สะท้อนว่าสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวอาจแพร่ได้ไวกว่า BA.2 แต่ก็มีข่าวดีเพราะจำนวนผู้ป่วยหนักในแอฟริกาใต้ยังไม่สูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะภูมิคุ้มกันจากการติดโอมิครอน BA.1 และ BA.2 หรืออาจจะเป็นข่าวดีว่า BA.4 และ BA.5 อาจจะไม่รุนแรงไปกว่าโอมิครอนตัวอื่น ๆ ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า โปรตีนหนามสไปค์ของ BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์เพิ่มจาก BA.2 มา 2 ตำแหน่ง คือ L452R ที่ไปเหมือนกับสายพันธุ์เดลต้า และแลมป์ดา ส่วนตำแหน่ง F486V ซึ่งไม่ค่อยพบในสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้

อีกทั้งพบว่า การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง 493 ของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ถูกเปลี่ยนกลับจาก R มาเป็น Q ซึ่งเหมือนกับโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนโอมิครอนจะมีการกลายพันธุ์ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ การขาดหายไปของตำแหน่งที่ 69-70 ที่พบได้ใน BA.1 แต่หายไปใน BA.2 กลับมาใหม่ใน BA.4 และ BA.5 อีกครั้ง ทำให้การตรวจแยกสายพันธุ์จะง่ายกว่า BA.2 ที่เคยได้ฉายาว่า “โอมิครอนล่องหน” มาก่อนหน้านี้

ส่วนโปรตีนหนามสไปค์ของ BA.4 และ BA.5 จะเหมือนกัน 100% ความแตกต่างระหว่าง 2 สายพันธุ์จะไปอยู่ที่โปรตีนตัวอื่น เช่น Nucleocapsid และ Membrane ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลต่อคุณสมบัติของไวรัสหรือไม่ต้องรอผลการศึกษาอีกครั้ง

Back to top button