ศาลยกความคุ้มครอง EASTW ร้องเบรกให้ “วงษ์สยาม” ชนะประมูลท่อส่งน้ำ EEC
ศาลปกครองยกความคุ้มครอง EASTW ร้องเบรกให้ “วงษ์สยาม” ชนะประมูลท่อส่งน้ำเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมจับตายืนอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดต่อภายใน 30 วัน
จากกรณีบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (“คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ”) และกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 กรณีคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยกรมธนารักษ์ได้มีคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชน(บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด) เพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (“การคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก”) และการออกประกาศ พร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่ เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย
อนึ่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 บริษัทฯได้ยื่นคำร้องขอศาลได้โปรดมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาอีกครั้ง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีการไต่สวนคำร้องครั้งแรกในวันที่ 15 มีนาคม 2565 และได้นัดไต่สวนคำขอให้ศาลกำหนด วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม 2565
โดยความคืบหน้าล่าสุด(12 เม.ย.2565) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาศาลยกความคุ้มครอง EASTW(ผู้ฟ้องคดี) เนื่องจากคำร้องยังรับฟังไม่ได้ว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 และประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหาร และดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ ที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไข เยียวยานั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการที่พิพาทในคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญาในการบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 กฎกระทรวงการจัดประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 และระเบียบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ. 2564 มิได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กรณีจึงมิอาจนำมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้
ดังนั้นถึงแม้ต่อมาจะได้มีการลงนามเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการที่พิพาทแล้ว แต่หากปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อคัดเลือกคู่สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอน การดำเนินการดังกล่าวได้ และหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ ในชั้นนี้จึงเห็นได้ว่าหากคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุพิพาทในคดีนี้มีผลบังคับต่อไปก่อนศาลมีคำพิพากษาไม่ทำให้ผู้ฟ้องคดี ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้าง ของผู้ฟ้องคดีในประเด็นนี้จึงมิอาจรับฟังได้
เมื่อคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่ง ให้ทุเลาการบังคับด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การทุเลาการบังคับตามคำสั่ง ทางปกครองที่พิพาทนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่ เพราะมิได้ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 จึงมีคำสั่งยกคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี
อย่างไรก็ตามผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือ คำสั่งทางปกครอง ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งหรือทราบคำสั่งศาล โดยการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวให้ ยื่นต่อศาลปกครองกลาง โดยจะไปยื่นที่ศาลหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้