สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 เม.ย. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 เม.ย. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 500 จุดในวันอังคาร (19 เม.ย.) ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาดของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการแสดงความเห็นเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,911.20 จุด พุ่งขึ้น 499.51 จุด หรือ +1.45%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,462.21 จุด เพิ่มขึ้น 70.52 จุด หรือ +1.61% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,619.66 จุด เพิ่มขึ้น 287.30 จุด หรือ +2.15%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันอังคาร (19 เม.ย.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความวิตกเกี่ยวกับสงครามในยูเครนและการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ทำให้นักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น แต่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นสวนทางตลาด แม้ราคาน้ำมันร่วงลงก็ตาม
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 456.28 จุด ลดลง 3.54 จุด หรือ -0.77%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,534.79 จุด ลดลง 54.56 จุด หรือ -0.83%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,153.46 จุด ลดลง 10.39 จุด หรือ -0.07% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,601.28 จุด ลดลง 15.10 จุด หรือ -0.20%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงในวันอังคาร (19 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการที่บริษัทโบรกเกอร์เป้าลดคำแนะนำลงทุนและราคาเป้าหมายหุ้นรายตัวในตลาด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,601.28 จุด ลดลง 15.10 จุด หรือ -0.20%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 5% ในวันอังคาร (19 เม.ย.) หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในตลาด
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 5.65 ดอลลาร์ หรือ 5.2% ปิดที่ 102.56 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 5.91 ดอลลาร์ หรือ 5.2% ปิดที่ 107.25 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร (19 เม.ย.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐและการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 27.4 ดอลลาร์ หรือ 1.38% ปิดที่ 1,959 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 75.9 เซนต์ หรือ 2.9% ปิดที่ 25.391 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 31.8 ดอลลาร์ หรือ 3.12% ปิดที่ 988.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 64.70 ดอลลาร์ หรือ 2.64% ปิดที่ 2,380.40 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (19 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี อันเป็นผลมาจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.18% แตะที่ 100.9610
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 128.75 เยน จากระดับ 126.96 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9513 ฟรังก์ จากระดับ 0.9444 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2624 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2616 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0796 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0787 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2997 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3011 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7374 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7350 ดอลลาร์สหรัฐ