THIP ตั้งเป้ารายได้ปี 65 โต 10% ดีมานด์ “ถุงซิปล็อค” กลุ่มปท.พัฒนาหนุน
THIP ตั้งเป้ารายได้ปี 65 โตไม่ต่ำกว่า 10% ความต้องการ “ถุงซิปล็อค” ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วราว 80-85% และอุตสาหกรรมแพคเกจจิ้งสามารถเติบโตได้ดี พร้อมวางแผนเข้าซื้อกิจการ M&A และร่วมลงทุน JV
นายเดชบดินทร์ เหรียญทรัพย์ดี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ THIP เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปี 2565 ไว้ไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 3,797 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตจากปริมาณความต้องการถุงซิปล็อคที่เพิ่มขึ้นในตลาดยุโรปและสหรัฐ รวมถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยังคงเป็นตลาดหลักรวมถึงบริษัทมีนโยบายที่จะเน้นสินค้า Own brand และขยายไปยังตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น
โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วราว 80-85% ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมแพคเกจจิ้งจะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ราว 15-20% ที่คาดว่าในปีนี้อุตสาหกรรมแพคเกจจิ้งจะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% โดยอุตสาหกรรมแพคเกจจิ้งในปีนี้ยังคงมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบลดลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาเม็ดพลาสติคซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักของบริษัทที่ใช้ในกระบวนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเบื้องต้นในระยะสั้นอาจมีผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตของบริษัท ซึ่งบริษัทสามารถปรับราคาขายให้เหมาะสมกับต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะเข้าซื้อกิจการ (M&A) รวมไปถึงการร่วมลงทุน (JV) ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัท โดยเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุรายละเอียดที่ชัดเจนได้ แต่ยังคงลุ้นจะสามารถได้เห็นวความชัดเร็วๆนี้ โดยอาจจะมีมูลค่าดีลซื้อกิจการเป็นหลักร้อยล้านบาท สำหรับแหล่งเงินทุนที่ใช้บริษัทมีกระแสเงินสดในมือที่สามารถลงทุนได้ รวมถึงสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 200-300 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายกำลังการผลิต และปรับปรุงสายการผลิต
ด้านกรณีที่ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นและฟรีโฟลตของบริษัทอยู่ในระดับต่ำนั้น ขณะนี้ฝ่ายบริหารมีแผนที่จะจัดการแก้ไขปัญหากับประเด็นดังกล่าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการการลดราคาพาร์ของหุ้นลง (แตกพาร์) และการปันผลเป็นหุ้นเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง