ขสมก.แจงยิบแผนเช่าเหมา “รถเอกชน” มั่นใจคุ้มค่า
ขสมก.ยืนยันเดินแผนเช่าเหมารถโดยสาร EV เอกชนมาวิ่งในเส้นทางต่างๆ ระหว่างรอการพิจารณาแผนฟื้นฟู เตรียมประกาศทีโออาร์เดือนพฤษภาคมนี้ มั่นใจช่วยลดรายจ่ายและภาระหนี้ เพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชน
นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ชี้แจงกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้เร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่เห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ว่า ขณะนี้ ขสมก.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ระยะสั้น เนื่องจากปัจจุบัน ขสมก. อยู่ระหว่างรอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ ปี 2562 (ฉบับปรับปรุง) โดยรูปแบบการทำแผนระยะสั้นมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ระหว่างที่รอการพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ฉบับปรับปรุงแล้วเสร็จ ซึ่งจะใช้วิธีการจัดหารถให้บริการด้วยการจ้างเอกชนมาวิ่งรถตามระยะทาง
โดยเอกชนจะต้องจัดหารถปรับอากาศ และพนักงาน มาให้บริการ โดยเขตการเดินรถทั้ง 8 เขต ของ ขสมก.จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารตารางการเดินรถ และกำหนดความถี่ในการให้บริการเดินรถโดยใช้งบประมาณในการดำเนินการจ้างเอกชนเดินรถ นั้น ขสมก.จะใช้งบประมาณ จากรายได้ในการบริหารการเดินรถ เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถโดยสารสาธารณะ และค่าใช้เกี่ยวกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
ส่วนกรณีที่สหภาพฯ ขสมก.ตั้งข้อสังเกตว่า การเหมาจ้างให้เอกชนมาเดินรถ คันละ 6,000 กว่าบาทต่อวัน สูงเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่ นั้น นายกิตติกานต์ ระบุว่า หากคิดต้นทุนตามข้อเท็จจริงรถ ขสมก.ครีมแดง มีค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อคันต่อวัน เกิน 6,000 บาท แบ่งเป็น ค่าเหมาซ่อม 1,400 บาทต่อคัน ค่าเชื้อเพลิงหากคิดค่าดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 28-30 บาท จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,600 บาทต่อเที่ยว ค่าจ้างคนขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. 3,000 บาทต่อคันต่อวัน แต่หากจัดหารถใหม่ด้วยการเหมาจ้างเอกชน จะมีต้นทุนดำเนินการใกล้เคียงกับการขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ หรือ พีเอสโอ ซึ่งในการบริหารจัดการ จะมีมีต้นทุนถูกกว่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะเป็นรถ EV ค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ 3.50 บาท ซึ่งตามสัญญาเป็นภาระเอกชนรับผิดชอบ
เบื้องต้นคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ได้พิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ ระยะสั้น ในการจ้างเอกชนมาวิ่งรถตามระยะทาง นำร่องจำนวน 224 คัน จากทั้งหมด 400 คัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเอกชนได้รายได้จากการจ้างของ ขสมก. คิดเป็นกิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำเอกสารประกวดราคา หรือ ทีโออาร์ คาดว่าจะประกาศการประกวดราคาได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้น จะดำเนินการจัดหารถได้ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565 หากมีผู้คัดค้านอาจทำให้ระยะเวลาการประกวดราคาขยับออกไปได้
ทั้งนี้ หลังประกวดราคาแล้วเสร็จ ขสมก.ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีข้อกำหนดหลักเกณฑ์ว่าภายในระยะเวลา 1 ปี ต้องบรรจุรถใหม่ไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งขณะนี้มีเส้นทางการเดินรถจำนวน 107 เส้นทาง ในจำนวนนี้บรรจุรถโดยสารให้บริการแล้ว 17 เส้นทาง และเหลือรถที่ต้องบรรจุอีก 90 เส้นทาง
ส่วนกรณีที่ ขสมก. จะเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยวการเดินทาง นั้น นายกิตติกานต์ ชี้แจงว่า ราคาดังกล่าวอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ที่ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจาก ครม. โดยยืนยันว่า จะยังใช้ราคาปกติรถครีมแดง 8-10 บาท ส่วนรถปรับอากาศ 15-25 บาทตามระยะทาง ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขสมก. มีผู้โดยสาร 5-6 แสนคนในวันธรรมดา และ 3-4 แสนคนในวันหยุด