ถึงเวลา “เปิดประเทศ” ก่อน “คนท่องเที่ยว” หมดลมหายใจ

ภาคเอกชนลุ้น ! ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เคาะแผนเปิดประเทศ ยกเลิกการตรวจ RT-PCR เพื่อลดอุปสรรคการเดินทาง พร้อมการพิจารณาแนวทางการลดวันกักตัว เพื่อปูทางสู่โรคประจำถิ่น  


เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่คนทั้งโลกต้องเผชิญกับสภาวะ “หยุดชะงัก” จากการระบาดของโรคร้ายจากเชื้อไวรัส “โควิด-19” ที่คร่าชีวิตของมนุษยชาติ และทำลายระบบเศรษฐกิจแทบทุกประเทศ เรียกได้ว่า เราทุกคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คุ้นเคย สู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ ตัดขาดจากโลกภายนอก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสตัวฉกาจ จนนำไปสู่การ “ปิดประเทศ”

แต่ต้องยอมรับว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกได้พยายามทำความรู้จักกับโรคระบาด และหาทางรอดจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งการเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตใหม่ การคิดค้นยารักษาโรคเพื่อลดการสูญเสีย และการสร้างเกราะป้องกันผ่าน “วัคซีน” สู้กับการระบาดของโรค จนทำให้ระดับความรุนแรงของโรคโควิด-19 ค่อยๆดีขึ้น นำไปการฟื้นตัวของหลายประเทศ และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเกือบจะเป็นปกติมาที่สุด พร้อมกับการ “เปิดประเทศ” อีกครั้ง

เหตุผลหลักที่หลายประเทศเลือกที่จะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง นั้นเป็นเพราะ “ทุกชีวิตต้องเดินต่อไป และอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้ไปให้ได้” แม้ตัวเลขการติดเชื้อ และการตายของแต่ละประเทศยังมีอยู่ แต่ก็ไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับการระบาดของโรคในระยะแรก การกลับมาเปิดบ้านเปิดเมือง จึงเป็นหนทางที่จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการขับเคลื่อน ทั้งจากการท่องเที่ยว การกลับเข้ามาลงทุนของต่างชาติ นี่จึงเป็นสิ่งที่หลายประเทศเลือกที่จะทำกัน โดยมีความเชื่อว่า “เมื่อมนุษย์เราทุกคนได้รับวัคซีน ย่อมมีภูมิคุ้มกันโรคที่จะไม่ทำให้เสียชีวิต” เหมือนกับการติดเชื้อในอดีต

สำหรับ “ประเทศไทย” ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 แม้จะเห็นสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการต่างๆมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการปรับมาตรการใช้ชีวิตของประชาชน เพื่อให้ธุรกิจในประเทศกลับมาเปิดอีกครั้ง หรือการคลายล็อกการเข้าประเทศ เพื่อให้ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจได้ฟื้นตัว และกลับมาไหลเวียนหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง

แม้ในช่วงที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศทั้งรูปแบบ Test&Go , Sandbox , และ Quarantine จะเห็นภาพความคึกคักของสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินนานาชาติอีกหลายแห่ง มีเครื่องบินกลับมาขึ้นลงมากขึ้น พร้อมกับบรรดานักท่องเที่ยวตาน้ำข้าวที่แบกสัมภาระผ่านมาสนามบินแน่นขนัด จนทำให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลต่างครึ้มอกครึ้มใจกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากแผนการที่วางไว้

แต่หากดูข้อมูลจาก นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ยอมรับว่า แม้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่การเข้าประเทศของไทยยังมีขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคต่อนักท่องเที่ยวอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการจองคิวเพื่อตรวจหาเชื้อในวันแรกที่เดินทางมาถึงไทย และการจองโรงแรมสำหรับรอผลตรวจ RT-PCR รวมถึงการซื้อประกันโควิด เพื่อนำหลักฐานทั้งหมดมาลงทะเบียนผ่านระบบ Thailandpass ขออนุมัติในการเดินทางเข้าไทย

นี่คืออุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวกับการเลือกจุดหมายปลายทาง เพราะหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ต่างกลับสู่การเปิดประเทศเต็มระบบเรียบร้อยแล้ว หากผู้ที่เดินทางมามีหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ต่างได้เปรียบไทยอย่างเห็นได้ชัด กับการดึงเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศให้ได้มาที่สุด หลังเจอภาวะ “ช๊อกโควิด” จากการปิดประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

การเสนอให้ ศบค.พิจารณายกเลิกมาตรการต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ด้วยการเปิดประเทศเหมือนเช่นก่อนที่โควิด-19 ระบาด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น โดย ส.อ.ท.คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะขยายฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปช่วงครึ่งปีหลัง โดยตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอยู่ที่ 5.58 – 6 ล้านคน และ รายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใช้จ่ายในไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่อหัวนั้นเท่ากับว่า จะมีรายได้เข้าประเทศถึง 558,000 – 600,000 ล้านบาท

ดังนั้น การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศและจะเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมถึง ผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อีกกว่า 3 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งภัตตาคารและร้านอาหาร ร้านขายของชำ ร้านค้าทั่วไป โรงแรมและรีสอร์ท ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนในช่วงนี้

ทั้งหมดนี้ คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ เพราะถึงแม้จะยังปิดประเทศต่อไป ก็ไม่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ  และยังซ้ำเติมภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ต้องสูญเสียโอกาส และขาดรายได้จากการท่องเที่ยว หลังต้องประคับประคองด้วย “ลมหายใจสุดท้าย” ที่เหลืออยู่ กับความหวังว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง จากมาตรการที่มีความแน่นอนของรัฐบาล

Back to top button