ส.อ.ท.แนะรัฐหาทางพยุง “ดีเซล” หวั่นกระทบเงินเฟ้อ

ส.อ.ท.แนะรัฐขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร ต่ออีก 3 เดือนหลังสิ้นสุด 20 พ.ค.นี้ หวั่นซ้ำเติมดีเซลที่ต้องขยับเพดาน 30 บาทต่อลิตร พร้อมสนับสนุนการขึ้นเป็นขั้นบันได สกัดราคาสินค้าพาเหรดขึ้นราคา


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เป็นห่วงเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเห็นว่า รัฐบาลควรขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน  จากเดิมที่คณะรัฐมนตรี หรือ  ครม.ได้เคยเห็นชอบซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ แม้รัฐจะสูญเสียรายได้รวม 17,000 ล้านบาท แต่เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลต้องสูงขึ้นจนเกินไป  จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการลดผลกระทบค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากค่าขนส่ง

ส่วนกรณีที่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลได้กำหนดไว้ว่าจะลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล จากกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง โดยจะอุดหนุนเหลือ 50% จากเดิมที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนดีเซลที่ลิตรละ 11.31 บาท/ลิตร (ราคา ณ.วันที่ 21 เมษายน 2565) หากราคายังทรงตัวระดับนี้ เท่ากับว่าในวันที่ 1 พฤษภาคม น้ำมันจะต้องขึ้นราคา 50% หรือราว 5 บาทกว่าต่อลิตร ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล จากที่มีนโยบายตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ก็จะเป็น 35 บาทต่อลิตร แต่กระทรวงพลังงานส่งสัญญาณว่าจะขึ้นเป็นขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบ เช่น 2-3 บาทต่อลิตร ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วย หากจะมีมาตรการปรับขึ้นแบบขั้นบันได  แต่อย่าลืมว่า เมื่อถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะหมดอายุ หากไม่ต่ออายุ ก็จะทำให้ราคาขายปลีกขึ้นอีก 3 บาทต่อลิตร จึงเห็นว่าระยะสั้นต้องดูแลราคาไม่ให้ขึ้นสูงมากเกินไป

นายเกรียงไกร ยังประเมินว่า หากราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้น 5 บาทต่อลิตร จะกระทบค่าขนส่งปรับขึ้นอีก 15-20% ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าภาพรวมสูงขึ้นเฉลี่ย 3-4% ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นได้ ปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อของไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะผลักดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น โดยตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาปีนี้จะพุ่งแตะระดับ 8.7% ชี้ให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อของไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นได้อีก

สำหรับสิ่งที่ ส.อ.ท.กังวลคือหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูง 90% สะท้อนให้เห็นว่า รายรับไม่พอรายจ่าย ซึ่งจะกดดันกำลังซื้อให้หดตัว ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆก็จะทยอยหมดลงในเดือน มิถุนายนนี้ จึงเห็นว่ารัฐบาลควรหามาตรการดูแลระยะสั้น ก่อนที่จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ ที่รัฐบาลจึงต้องเร่งหามาตรการระยะสั้นดูแลเร่งด่วน

Back to top button