11 รพ.สังกัดกทม. เปิด Walk In ฉีดวัคซีน “โควิด” ถึง 30 เม.ย.นี้
“รพ. สังกัดกทม.” 11 แห่ง เปิด Walk In ฉีดวัคซีนโควิด “แอสตร้าเซนเนก้า-วัคซีนไฟเซอร์” เพื่อยกระดับมาตรการป้องกัน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2565
พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัด กทม. และการเตรียมความพร้อมยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งข้อสังเกต จำนวนการติดเชื้อช่วงสงกรานต์ต้องรออย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ว่าขณะนี้สำนักการแพทย์ กทม. มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดทั้งหมดอยู่ที่ 3,498 เตียง มีอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลหลักที่ 366 เตียง โรงพยาบาลสนาม 593 เตียง Hospitel 756 เตียง รวมทั้งสิ้น 1,715 เตียง คิดเป็น 49.03% ของจำนวนเตียงทั้งหมด และคงเหลือเตียงว่างพร้อมรองรับผู้ป่วยอีกจำนวน 1,793 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เม.ย. 2565 เวลา 18.00 น.)
นอกจากนี้ สำนักการแพทย์ได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรง และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีการติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมจากระบบปกติ เพื่อรองรับกรณีผู้ป่วยยังเข้าระบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) ไม่ได้ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและจ่ายยาตามระดับอาการ และให้คำแนะนำในการกลับไปแยกกักตัวรักษาที่บ้าน โดยหากมีอาการรุนแรง ศูนย์เอราวัณจะประสานและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ.สนาม รพ.หลัก ตามระดับความรุนแรงต่อไป
สำหรับความคืบหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุกของ กทม. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว และสตรีมีครรภ์) รวมถึงการค้นหาประชาชนแฝงที่มาทำงานในกรุงเทพฯ ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทยที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนให้มารับวัคซีนโดยเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงอาการหนักและเสียชีวิต
ขณะนี้ สำนักการแพทย์ ได้รณรงค์ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง 608 ณ จุดฉีดต่างๆ ทั้งในและนอกโรงพยาบาล เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งสถิติการให้บริการวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ข้อมูล ณ วันที่ 21 เม.ย. 2565 เวลา 16.00 น. ยอดผู้รับวัคซีนเพิ่ม 11,658 โดส และยอดสะสมการให้บริการวัคซีน 25,083,602 โดส โดยกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนแล้ว สะสม 5,533,633 โดส
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้ปรับแผนการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 เข็ม 2 เข็ม 3 และเข็มกระตุ้น สำหรับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ชาวไทยและต่างชาติ ทุกสิทธิ ต่อเนื่องจากศูนย์ฉีดอื่นๆ เริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2565 ในวันและเวลาราชการ ณ จุดบริการฉีดวัคซีนที่ รพ.ในสังกัด กทม. ทั้ง 11 แห่ง
นอกจากนี้ เปิดช่องทางเพิ่มเติมให้ประชาชนได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด โดยเปิด Walk in ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนไฟเซอร์ ณ จุดบริการฉีดวัคซีนที่ รพ. โดยจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2565 เป็นต้นไป ในวันและเวลาราชการ ณ จุดบริการวัคซีนที่ รพ. ในสังกัดฯ ทั้ง 11 แห่ง รายละเอียดดังนี้
- รพ.กลาง โทร 02-2251354
- รพ.ตากสิน (ณ ห้างแพลทฟอร์ม วงเวียนใหญ่) โทร 02-4377677
- รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร 02-2897000-4
- รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร 02-4293575-81 ต่อ 8589
- รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร 02-5432090
- รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร 02-3273049
- รพ.ราชพิพัฒน์ โทร 02-4440163 กด 0
- รพ.สิรินธร โทร 02-3286760
- รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน โทร 02-4527999
- รพ.คลองสามวา โทร 06-45576009
- รพ.บางนากรุงเทพมหานคร โทร 02-1800201-3 ต่อ 103,104
อย่างไรก็ดี มีหลักเกณฑ์เงื่อนไข ดังนี้ 1. สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั้งชาวไทยและต่างชาติ 2. สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 รักษาหายแล้ว 3 เดือนขึ้นไป 3. สำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนจากศูนย์ฉีดวัคซีนอื่นๆ ทุกช่องทาง และ 4. ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว ให้ได้รับเข็มกระตุ้นตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ
สำหรับเอกสารที่ต้องนำมาด้วย กรณีคนไทย นำบัตรประจำตัวประชาชน และปากกาส่วนตัว กรณีคนต่างชาติ ใช้พาสปอร์ต (Passport) ร่วมกับบัตรสีชมพู หรือร่วมกับเลขประจำตัวประกันสังคม และปากกาส่วนตัว
ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนต้องเตรียมความพร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดการออกกำลังกายหนัก สวมเสื้อที่สะดวกในการฉีด เช่น เสื้อแขนสั้น หากมีข้อสงสัยเรื่องการฉีดวัคซีน ติดต่อสอบถามได้ที่โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 11 แห่ง ในวันและเวลาราชการ