ศบค.ลดวันกักตัวเหลือ 5+5 ทั้งกลุ่ม “เสี่ยงสูง-ผู้ติดเชื้อ”
ศบค. อนุมัติลดวันกักตัวเหลือสูตร 5+5 โดยให้กักตัว 5 วัน สังเกตอาการ 5 วัน สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูง-ผู้ติดเชื้อ เตรียมเปิดประเทศ เข้าสู่โรคประจำถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ได้อนุมัติลดวันกักตัวสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงกับผู้ป่วย / ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยลดเป็นกักตัว 5 วัน และสังเกตอาการอีก 5 วัน พร้อมทั้งตรวจหาเชื้อด้วย ATK เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่มีมติเห็นชอบหลักการลดวันกักตัวกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงว่า การลดวันกักตัวสอดคล้องกับทั่วโลกที่ใช้กัน ซึ่งพิจารณาตามระยะฟักตัวของโรคหลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ โดยผู้กักตัวไม่ได้แปลว่า ป่วย แต่จะคำนึงว่า สัมผัสใกล้ชิดขนาดไหน ต้องดูความเสี่ยง โดยผู้กักตัวจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง
จากเดิมที่กระทรวงสาธารณสุขใช้มาตรการ 7+3 คือ กักตัวไม่พบผู้อื่น 7 วันและสังเกตอาการ 3 วันออกไปไหนได้ แต่ต้องคงมาตรการใส่หน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม จากปัจจุบันโอมิครอน ระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น และทั่วโลกได้ลดวันกักตัวลงสำหรับผู้เดินทางข้ามประเทศ หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงเห็นชอบลดมาตรการกักตัวเหลือ 5+5 โดย 5 วันกักตัวแบบ Home Isolation และอีก 5 วันออกไปไหนมาไหนได้ แต่ต้องคงมาตรการสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยจะใช้กับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และประชาชนในประเทศ
ทั้งนี้ยังมีรายงานว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ยังมีการประชุมพิจารณาความพร้อมเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้บริหารจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic approach) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 คือช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อย ๆ